กษ.วอนเกษตรกรเข้าใจมาตรการกู้วิกฤติเพลี้ยกระโดดก่อนขยายวงกว้างทั่ว ปท.

ข่าวทั่วไป Thursday February 11, 2010 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ขอเน้นย้ำว่างบประมาณที่ขอเสนอจากรัฐบาลจำนวน 1,240 ล้านบาท เป็นการเร่งรัดตัดวงจรการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไม่ให้ขยายวงกว้างและเกิดความสูญเสียต่อผลผลิตข้าวของเกษตรกรในระยะยาว โดยจากสถานการณ์พื้นที่พบการแพร่ระบาดรุนแรงล่าสุดอยู่ประมาณ 398,000 ไร่ จำนวนเกษตรกรประมาณ 20,000 ราย

"อยากจะชี้แจงให้พี่น้องเกษตรกรผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้รับทราบแนวทางการช่วยเหลือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้"นายอภิชาติ กล่าว

กระทรวงเกษตรฯ เสนอของบประมาณจากรัฐบาลในวงเงิน 1,240 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินจำนวน 501 ล้านบาทให้เบิกจ่ายจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และจำนวนเงินอีก 739 ล้านบาท โดยขอใช้เงินจากเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร

ทั้งนี้ มาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเข้าไปดำเนินการตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรครั้งนี้ อาทิ การตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยการไถกลบต้นข้าวในพื้นที่ปลูกข้าวที่ยังพบการระบาดประมาณ 398,000 ไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดินจะเป็นผู้เข้าไปดำเนินการในอัตราราคาไร่ละ 350 บาท รวมเป็นเงิน 139 ล้านบาท การสนับสนุนพันธุ์ข้าวสำหรับเกษตรกรเพื่อเพาะปลูกในฤดูเพาะปลูกใหม่ ในพื้นที่ทั้ง 398,000 ไร่ ในอัตราไร่ละ 15 กิโลกรัมๆ ละ 18 บาท รวมเป็นเงิน 107 ล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

และอีกมาตรการที่สำคัญ คือ การขยายเวลาการชำระหนี้และชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไถกลบต้นข้าว จากมาตรการตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทั้งนี้ ในส่วนของการจ่ายค่าชดเชยผลกระทบจากการดำเนินการไถกลบต้นข้าว เพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิกในพื้นที่ที่ต้องดำเนินการประมาณ 398,000 ไร่ ในอัตราไร่ละ 2,280 บาท รวมเป็นเงิน 907 ล้านบาท โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ดำเนินการ และจ่ายเงินชดเชยผลกระทบ ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ยังได้วางแนวทางในการปฏิรูประบบการปลูกข้าวใหม่ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการจัดทำระบบการปลูกข้าว ที่จะเร่งพิจารณาและวางระบบการปลูกพืชและมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงระบบการปลูกข้าว ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดด สีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิกในระยะยาว โดยกำหนดช่วงเวลาการเพาะปลูกข้าวให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ และสังคมเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ