นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุด ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 ในส่วนของรัฐบาล แถลงถึงกรณีที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง วิจารณ์ว่ารัฐบาลให้ความสนใจน้อยมากต่อการแก้ปัญหามาบตาพุด อีกทั้งการออกประกาศเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการตั้งองค์การอิสระถือเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ควรออกเป็น พ.ร.ก.เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า นายวีรพงษ์ คงจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยประเด็นแรก คือ ในรัฐธรรมนูญที่มีการพูดถึงองค์การอิสระนั้น นายวีรพงษ์อาจมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกับรัฐบาล เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ชัดว่าต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งเป็นความเห็นที่ต่างกันเวลาอ่านรัฐธรรมนูญ
"หากออกเป็นกฎหมายอย่างเร็วที่สุด 6 เดือน ช้าที่สุดก็หลายปี ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ออกมาในรูปแบบประกาศที่เรียกว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่เพื่อการจัดตั้งองค์การอิสระ แต่เพื่อให้มีองค์กรหนึ่งองค์กร และให้องค์กรนั้นไปดำเนินการเพื่อให้ได้องค์กรอิสระ และเป็นองค์การอิสระที่เรียกว่าองค์การอิสระเฉพาะกาล ซึ่งการทำงานก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกับร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่" เลขาธิการนายกฯ กล่าว
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกตว่าจะส่ง พ.ร.บ.ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ในสมัยประชุมนี้ เมื่อมีการประกาศตั้งองค์กรอิสระถาวรแล้ว องค์การอิสระเฉพาะกาลนี้ก็จะทำงานควบคู่ไปจนถึงจุดๆ หนึ่ง โดยจะมีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้เพื่อให้การทำงานราบรื่นในช่วงรอยต่อ
"เป็นข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเหตุผลที่รัฐบาลไม่ออกเป็นพ.ร.ก. เพราะมีทางออกอื่นที่ทำได้ และยังเป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐบาลตีความ แต่คนที่อ่านรัฐธรรมนูญอาจมองต่างกัน ซึ่งเราก็ยอมรับว่าจะต้องออกเป็นกฎหมาย แต่ขณะนี้รัฐบาลไม่ได้ตีความว่าต้องออกเป็นกฎหมายเท่านั้น"นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ทำกันเพียง 3 ฝ่าย ดังนั้นจะเห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ซึ่งทำงานกันมา 2 เดือนกว่า ใครก็ตามที่มีปัญหาอยู่ในการถูกฟ้องร้องเขาก็เดินหน้าได้แล้ว ในการลงไปทำ HIA, EIA เพิ่มเติม การเข้าไปถามความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเริ่มดำเนินการไปหมดแล้ว และเชื่อว่าภายใน 60 วัน หลายอย่างก็คงจะเสร็จ
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ขณะที่องค์การอิสระที่จะประกาศรับและคัดเลือกกันเองจะทำคู่ขนานเมื่อ EIA, HIA ทำเสร็จแล้ว และทำความเห็นประกอบเรียบร้อย ซึ่งจะพอดีกับที่องค์การอิสระตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถยื่นเรื่องให้องค์การอิสระให้ความเห็นได้ เป็นกระบวนการที่กำลังทำอยู่
ส่วนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ นายไตรรงค์ สุวรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ได้รับงานต่อจากตน ในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำและลงงบประมาณด้วยการสร้างมาตรฐานใหม่ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูประชาชนที่อยู่นอกโรงงานให้ได้เท่ามาตรฐานเดียวกับคนที่อยู่ในโรงงานได้รับ เป้าหมายคือ 1 หมื่นคน แต่ขณะนี้ทำได้ 1.2-1.6 หมื่นคนแล้ว และจะทยอยทำไปเรื่อยๆ
กระบวนการการทำ EIA และ HIA การฟังความคิดเห็นประชาชน และเรื่ององค์การอิสระ ซึ่งใน 3 ส่วนแรก จะแล้วเสร็จได้ภายใน 60 วัน หรืออย่างช้า 75 วัน ขณะที่องค์การอิสระจะต้องจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันตามที่ระเบียบสำนักนายกฯ กำหนด ซึ่งจะพอดีกันกับที่องค์การอิสระจะมารับลูกต่อ และองค์การอิสระจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วันเพื่อทำความเห็นในโครงการนั้น และหน่วยที่มีอำนาจในการอนุมัติหรืออนุญาตจะนำความเห็นขององค์การอิสระมาประมวลกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน EIA และ HIA เพื่อตัดสินใจว่าจะอนุญาตหรือไม่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลา 6-8 เดือน นับตั้งแต่เดือนม.ค.ซึ่งบางบริษัทเริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ อัยการยังได้ยื่นที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาผ่อนผันโครงการที่จะมีการก่อสร้างต่อไปได้อีก 12 โครงการ แต่จะยังไม่เปิดดำเนินกิจการ ซึ่งโครงการเหล่านี้ในระหว่างก่อสร้างไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะยังไม่ได้กดปุ่มเดินเครื่อง ส่วนเรื่องเสียงหรือฝุ่นก็มีบ้างแต่ไม่น่าจะกระทบ เพราะโรงงานเหล่านี้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ไม่น่าจะมีปัญหากับเพื่อนบ้าน
ส่วนการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนนั้น สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)ได้จัดประชุมที่ จ.เชียงใหม่ ว่าจะเป็นไปในแนวทางอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายบางคนจะเข้าไปนั่งฟังด้วย และจะลงพื้นที่ต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอประเภทโครงการให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายพิจารณาได้ภายใน 2 เดือน
"ขณะนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีกี่ประเภทกิจการ ซึ่งจะมี 19 กิจการ หรือ 14 กิจการก็ได้ แต่ถ้าเป็นกิจการที่มีเงินลงทุน เป็นหมื่นล้าน การทำ EIA HIA การรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือการให้ความเห็นขององค์การอิสระก็น่าจะทำ เพราะจะได้เป็นเกราะป้องกันตัวเอง แต่บางบริษัทต้องการหลีกเลี่ยงเพราะหวังฟลุ๊ค" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว