กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องรัฐบาลไทยให้สนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศเป็นทางออก หลังจากล่าสุดมีการปนเปื้อนจีเอ็มโอในพืชสำคัญของประเทศถึง 5 ชนิด ได้แก่ มะละกอ ฝ้าย ข้าวโพด ถั่วเหลืองและพริก
นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า ในรายงาน “เบื้องลึกจีเอ็มโอ ต้นทุนที่ไม่จำเป็น” ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความล้มเหลวในเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงความล้มเหลวของการเพาะปลูกพืชจีเอ็มโอที่เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากเกษตรกรทั่วโลกได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้วยราคาพืชจีเอ็มโอที่สูงขึ้น แต่ผลผลิตกลับลดลง อันเนื่องมาจากความล้มเหลวด้านการเพาะปลูก รวมถึงแรงผลักดันจากผู้บริโภคที่ไม่ต้องการพืชจีเอ็มโอ ได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมการเกษตรต้องจ่ายเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐในการแยกพืชจีเอ็มโอออกจากพืชปกติ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นได้กับเกษตรกรไทย หากรัฐบาลยังไม่เริ่มลงมืออย่างจริงจังในการป้องกันมิให้มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอในประเทศ
“รัฐบาลไทยไม่ควรสนับสนุนนโยบายที่อนุมัติการค้าพืชจีเอ็มโอ ในทางตรงกันข้าม ควรปูหนทางอนาคตเกษตรกรรมไทยไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งได้รับการยอมรับโดยโครงการการประเมินนานาชาติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อการพัฒนา หรือ International Assessment for Science and Technology Development (IAASTD) แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว คาดว่ายังคงอีกยาวไกลกว่ารัฐบาลไทยจะสามารถทำให้พืชผลในประเทศปลอดจากการปนเปื้อนจีเอ็มโอได้” นางสาวณัฐวิภากล่าว
ทั้งนี้ กรีนพีซได้เรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิกการทดลองจีเอ็มโอในแปลงเปิดทุกชนิด รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า “การทดลองในแปลงเปิดที่มิดชิด" เนื่องจากเป็นต้นเหตุหลักของการปนเปื้อนสู่อาหารไทย
“เกษตรกรรมเชิงนิเวศ และการขยายพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ปลอดภัย เป็นทางออกที่ดีที่สุดของการทำการเกษตรแบบยั่งยืน เกษตรกรรมเชิงนิเวศช่วยปกป้องดิน น้ำ และสภาพภูมิอากาศ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ปราศจากการปนเปื้อนสารเคมีหรือจีเอ็มโอ นอกจากนี้ยังเป็นหนทางสู่ความมั่นคงทางอาหารทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า" นางสาวณัฐวิภา กล่าว
กรีนพีซประนามรัฐบาลไทยว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการกำจัดการปนเปื้อนจีเอ็มโอ รวมทั้งการยุติการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอในประเทศ จากรายงานของมูลนิธีชีววิถีหรือไบโอไทย ที่เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่า พบการปนเปื้อนจีเอ็มโอในพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงมะละกอด้วย ทั้งนี้ การปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทยถูกเปิดเผยครั้งแรกในปี 2547 โดยกรีนพีซได้เปิดโปงกรมวิชาการเกษตรว่าเป็นต้นเหตุของการปนเปื้อน ในครั้งนั้นกรมวิชาการเกษตรอ้างว่าได้ทำลายและจัดการการปนเปื้อนเรียบร้อยแล้ว