นายอานันท์ ปัญยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และประธานคณะกรรมการประสานงานดำเนินการพิจารณาจัดตั้งองค์การอิสระตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีว่า ได้มีการหารือถึงความคืบหน้าในการทำงานที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้ ทั้งในเรื่องการตั้งองค์การอิสระ และการออก พ.รบ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเชื่อว่ากฤษฎีกาจะเข้าใจเจตนารมย์ในการเสนอร่างองค์การอิสระว่าออกมาให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสอง
นอกจากนี้ยังหารือถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นการจัดประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยในขั้นตอนการหารือและการจัดทำเวทีความคิดเห็นนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 5 ครั้ง แต่เสนอให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นของคณะกรรมการชำนาญการก่อน
นายอานันท์ ระบุว่า การทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กับกระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีการหารือกันมาโดยตลอดถึงการทำงานคู่ขนาน โดยเฉพาะในประเด็นการจัดแบ่งประเภทกิจการรุนแรงที่จะต้องยึดหลักความเป็นไปได้ ความเหมาะสม ความยืดหยุ่น ข้อเท็จจริง และการบังคับใช้ทั้งหมดต้องสอดคล้องกัน และที่สำคัญไม่สร้างปัญหาในอนาคต
ด้านนายบัณฑูร เศรษฐสิโรตม์ โฆษกคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขปรับปรุงของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยขอให้รีบดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
ส่วนเรื่องโครงการที่อยู่ในประเภทรุนแรงนั้น นายกรัฐมนตรีให้หลักการว่าจะต้องปฏิบัติได้จริง มีความยืดหยุ่นบ้าง โดยบ้างประเภทที่ยังไม่รอบคอบจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้รอบคอบ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อหารือเรื่องความยืดหยุ่นในเรื่องความเห็นของกฤษฎีกาเพื่อให้โครงการเกิดการเดินหน้า และยืนยันว่าจะสนับสนุนคณะกรรมการ 4 ฝ่ายอย่างเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนให้มีเวทีระหว่างคณะกรรมการชำนาญการและกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในอนาคต และเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเสนอในการแบ่งประเภทกิจการอันตราย โดยคาดการว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเทศกาลสงกรานต์
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า เหตุที่นายกรัฐมนตรีต้องเดินทางเข้าหารือ เนื่องจากเกิดปัญหาในการทำงานของคณะกรรมการ 2 เรื่องคือ 1.การกำหนดประเภทกิจการรุนแรง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำประชาพิจารณ์ใน 19 กิจการที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะเริ่มทำประชาพิจารณ์ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าที่ควร
และ 2.เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งองค์การอิสระถาวรที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ที่นายกรัฐมนตรีรับปากจะไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และช่วยประสานกับกฤษฎีกาปรับปรุงร่างให้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากไม่สำเร็จอาจผลักดันผ่าน ส.ส.เพื่อเสนอร่างประกบ