รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจสารเสพติด อัลฟา-6 ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการทดสอบเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล โดยไม่สามารถผ่าเครื่องพิสูจน์ได้เพราะขัดต่อสัญญาที่กองทัพทำไว้กับบริษัทเอกชน
"เหมือนกับการตรวจเครื่อง GT200 ที่ตรงตามหลักสากล หลักวิทยาศาตร์ และหลักสถิติ เพียงแต่เจ้าของเครื่องต้องหาบุคคลที่จะมาทดสอบ สารที่จะทดสอบ และสถานที่ หากได้ครบ 3 อย่างก็สามารถที่จะกำหนดการทดสอบได้ แต่ต้องขอเวลาเตรียมการ" คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า จะใช้เวลาในการทดสอบ 2 วัน หรือ 20 ครั้ง ซึ่งเป็นสถิติที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ แต่หากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมจะเพิ่มจำนวนครั้งในการทดสอบมากกว่านั้นก็ได้ แต่ที่ผ่านมาเห็นว่าการทดสอบจำนวน 20 ครั้งมีความเพียงพอต่อการได้ข้อมูลทางตัวเลขสถิติที่เชื่อถือได้
ส่วนการนำเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT200 ลงไปทดสอบในพื้นที่จริงจะมีปัญหาเรื่องการถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อม ทำให้ไม่สามารถได้ข้อมูลที่ชัดเจนเหมือนในห้องทดลอง และผลทดสอบเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT200 ที่ผ่านมายืนยันได้ว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจึงไม่จำเป็นต้องทดสอบอีก และไม่สามรถผ่าเครื่องพิสูจน์ได้เพราะขัดต่อสัญญา
"คิดว่าเพียงพอ...มีสัญญากับบริษัทที่จะไม่ให้มีการผ่าพิสูจน์ เจ้าของเครื่องบอกเพียงว่าหากเครื่องเขาเสียหาย หรือไปทำอะไรกับเครื่องก็จะผิดสัญญา" คุณหญิงกัลยา กล่าว
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นน่าจะได้คำตอบในวันที่ 23 ก.พ.นี้ โดยจะเชิญชวนคณะกรรมการตรวจสอบฯ ลงไปด้วย และมีเอกสารประกอบเพื่อให้สบายใจ นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พยายามหาเครื่องมือที่จะนำมาใช้แทนเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความปลอดภัย