สำนักกวิจัยเอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง ความทรงจำของคนกรุงเทพฯต่อสถานการณ์การเมืองในปีที่แล้ว กับความคิดเห็นต่อผลที่จะตามมาหลังคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากกรณีศึกษาประชาชนที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,515 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19-20 ก.พ.53 พบ ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 73% ติดตามข่าวการพิจารณาคดียึดทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงบานปลายจากกรณีการพิพากษาคดียึดทรัพย์ ส่วนใหญ่ 85.3% ไม่รู้สึกกังวลและจะใช้ชีวิตไปตามปกติ 11.7% กังวลมากจนถึงขั้นจะกักตุนอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ และ 3% กังวลจนถึงขั้นจะกักตุนอาหารและจะชักชวนคนอื่นด้วย
ความรู้สึกของประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังการพิพากษาคดียึดทรัพย์สิน 49.2% คิดว่าจะวุ่นวายเหมือนเดิม 44.2% จะวุ่นวายมากขึ้น มีเพียง 6.6% ที่คิดว่าจะลดความวุ่นวายลง
สิ่งที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีที่ผ่านมาที่จำได้ ส่วนใหญ่ 88.4% จำได้คือการชุมนุมประท้วงก่อความวุ่นวาย ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่ใช้ความรุนแรง รองลงมา 8.5% เป็นการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ความขัดแย้งระหว่างไทย กัมพูชา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างๆ และความเห็นส่วนใหญ่ 95.4% ระบุว่าถ้าเกิดสถานการณ์การเมืองวุ่นวายรุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมาอีกตนเองจะเดือดร้อนมากกว่า มีเพียง 4.6% เท่านั้นที่คิดว่าจะได้รับประโยชน์มากกว่าถ้าเกิดความรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ 61.4% คิดว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองบางกลุ่ม ในขณะที่เพียง 9.6% คิดว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ
สำหรับ สิ่งที่คนกรุงเทพฯและปริมณฑล ต้องการเสนอแนะต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ อันดับแรกขอความสงบในการเคลื่อนไหวไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน รองลงมา ระบุให้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ และให้เร่งช่วยกันแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ให้อภัยต่อกัน และทำงานการเมืองเชิงสร้างสรรค์ ไม่มุ่งแต่ทำลายกัน