นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และประสานให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในลักษณะเดียวกัน เพื่อทำหน้าที่เตรียมการรับมือภัยแล้งดังนี้ จัดทำบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง บัญชีข้อมูลแหล่งน้ำ แผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แผนแจกจ่ายน้ำ และกำหนดจุดแจกน้ำ
พร้อมทั้งจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งให้พร้อมใช้งานได้ทันที ตรวจสอบแหล่งน้ำ ภาชนะเก็บกักน้ำให้อยู่ในสภาพใช้การได้อย่างเพียงพอ รวมถึงขุดลอกแหล่งน้ำให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น หากสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรให้ประสานไปยังสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรจัดทำฝนหลวงในทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย
สำหรับด้านการให้ความช่วยเหลือ ให้จังหวัดพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และความเหมาะสมของพื้นที่ หากสถานการณ์ภัยแล้งสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้างให้ขอความช่วยเหลือไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอสนับสนุนงบกลางให้ความช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องกำหนดมาตรการและระดมความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
"ขอให้ประชาชนจัดหาภาชนะเก็บกักน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งวางแผนกิจกรรมการใช้น้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต้นทุนน้ำในพื้นที่ และนโยบายการจัดสรรน้ำของจังหวัด ส่วนเกษตรกรให้งดเว้นการทำนาปรังและเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชชนิดอื่นทดแทนในช่วงฤดูแล้ง"นายอนุชา กล่าว