(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ เผย Q4/52 ว่างงานลดหลัง ศก.ฟื้น ห่วงปัญหาการเมืองกระทบสังคมไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday March 3, 2010 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เผยอัตราการว่างงานในช่วง Q4/52 ลดลงเหลือเพียง 1% หลังภาวะเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น และทั้งปี 52 อยู่ในระดับ 1.5% แต่หวั่นปัญหาทางการเมืองส่งผลกระทบต่อสังคมไทย

"ปัญทางการเมืองส่งผลต่อสังคมไทยอย่างแน่นอน เพราะทำให้เด็กรุ่นใหม่เห็นภาพความรุนแรง ซึ่งต้องเร่งแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างรวดเร็ว"นางสุวรรณี กล่าวในการแถลงข่าวรายงานความเคลื่อนไหวทางสังคม

สภาพัฒน์ ระบุว่าช่วงไตรมาส 4/52 สภาพความเป็นอยู่ของคนและสังคมไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงานเฉลี่ย 37.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการว่างงานมีจำนวน 380,000 คน หรือคิดเป็น 1% ของอัตราแรงงานทั้งหมด ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยเริ่มเพิ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลได้มีการสนับสนุนมาตรการเรียนฟรี 15 ปี และประชาชนยังสามารถเข้าถึงแหล่งบริการทางสุขภาพได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ภาวะการตึงตัวของตลาดแรงงาน เนื่องจากขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ มีความเชี่ยวชาญ และแรงงานบางส่วนไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งในอนาคตที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้จำนวนแรงงานลดลง และต้องระวังปัญหาคุณแม่วัยใส คือ กลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายใหม่ 2009 ที่ยังมีการแพร่ระบาด และมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างของผู้ประกอบการในปีนี้ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของลูกจ้าง และสมรรถภาพการทำงาน จากที่ปัจจุบันระบบการจ่ายค่าจ้างส่วนใหญ่ยังอิงกับระดับการศึกษามากกว่าทักษะหรือความสามารถเฉพาะในการทำงาน ทำให้ผลตอบแทนแรงงานบางกลุ่มยังไม่สะท้อนถึงคุณภาพของแรงงานที่แท้จริง ขณะที่ค่าจ้างโดยเฉลี่ยยังเพิ่มขึ้นน้อย

ดังนั้น จึงต้องปรับระบบการจ่ายค่าจ้างตามสมรรถนะหรือความเชี่ยวชาญที่อิงกับมาตรฐานคุณวุฒิและมาตรฐานวิชาการ ที่จะช่วยพัฒนาสมรรถนะของแรงงานได้ตรงตามความต้องการของตลาด เกิดความคุ้มค่าในการผลิตกำลังคน มีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน และสามารถกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมตามคุณภาพของแรงงานที่จะส่งผลให้มีการเพิ่มค่าจ้างขึ้นได้โดยไม่กดดันต่อต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพประชาชนและยังส่งเสริมให้แรงงานมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย

จากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปีและการพยายามผลักดันในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาที่เป็นระบบมากขึ้นรวมถึงการให้เอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษาและฝึกอบรมจะส่งผลให้แรงงานของประเทศมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย

นางสุวรรณี กล่าวว่า ในปี 52 ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของไทยเพราะคนไทยได้รับความช่วยแหลือ สวัสดิการสังคม บริการทางสังคมและหลักประกันต่าง ๆ มากขึ้น แต่การพัฒนางานคุ้มครองทางสังคมยังไม่ประสบความสำเร็จในเชิงคุณภาพ เพราะขาดการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่อง ซ้ำซ้อน มีปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และความซับซ้อนของปัญหามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องเพิ่มการลงทุนด้านสวัสดิการสังคม จัดทำระบบฐานข้อมูลประชากรของประเทศทั้งในระดับพื้นที่ จำแนกกลุ่มคนตามวัย อาชีพ เพศและรายได้ เพื่อจัดทำกลุ่มเป้าหมายในการให้ความคุ้มครองทางสังคมประเภทต่าง ๆ ชุมชนใช้ศักยภาพของตนเองและทุนทางสังคมมาใช้ในการจัดสวัสดิการและบริการใหกั้บคนในชุมชน และที่สำคัญที่สุดคือภาคเอกชนต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดสวัสดิการสังคมและก้าวไปสู่การลงทุนเพื่อการผลิตเพื่อสังคมด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ