นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามสถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้งปีนี้อย่างใกล้ชิด และพบว่าเกษตรกรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มที่จะทำนาปรังอย่างต่อเนื่อง หลังจากเก็บเกี่ยวนาปรังครั้งแรกเสร็จแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น และจะกระทบต่อแผนการใช้น้ำที่วางไว้
โดยปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปรังเกินแผนไปแล้วกว่าร้อยละ 17 แม้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะรณรงค์แจ้งเตือนเกษตรกรถึงผลกระทบที่จะตามมาหากมีการทำนาปรังครั้งที่ 2 แล้วก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าในช่วงต้นฤดูฝนของปีนี้ ฝนจะตกในเกณฑ์น้อย จึงต้องมีการสำรองน้ำไว้ใช้ทำนาปีในช่วงต้นฤดูฝนด้วย ดังนั้น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ขอให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำปรังอย่างต่อเนื่องจะเป็นการดีที่สุด
สำหรับสถานการณ์ของการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 52/53 ทั่วประเทศ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ทั้งหมด 12.28 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 2.78 ล้านไร่ โดยผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 15.16 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 123 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งหมด แยกเป็น ข้าวนาปรัง 12.57 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 2.59 ล้านไร่ ในส่วนของการเพาะปลูกพืชในเขตลุ่มนำเจ้าพระยา กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ 6.39 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 5.95 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.44 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.80 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 122 ของแผนการเพาะปลูกในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา แยกเป็น ข้าวนาปรัง 7.37 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.43 ล้านไร่
ด้านแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 20,720 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีการจัดสรรไปแล้ว 14,296 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 69 ของแผนจัดสรรน้ำ โดยการจัดสรรน้ำในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และผันน้ำบางส่วนจากลุ่มน้ำแม่กลองนั้น ปัจจุบันมีการนำน้ำไปใช้แล้วจำนวน 7,002 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนจัดสรรน้ำ คงเหลือปริมาณน้ำที่สามารถจะนำมาใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำประมาณ 998 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการให้ความช่วยเหลือนั้น ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน เตรียมเครื่องสูบน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจำนวน 1,200 เครื่อง และรถยนต์บรรทุกน้ำอีกจำนวน 295 คัน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือ หากได้รับการร้องขอ
ปัจจุบันได้ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือทั่วประเทศแล้ว จำนวน 642 เครื่อง ในพื้นที่ 40 จังหวัด และรถยนต์บรรทุกน้ำ 8 คัน ในพื้นที่ 2 จังหวัด