ดุสิตโพลเผยคนกลัวม็อบแดงยืดเยื้อ หวั่นอาจรุนแรง ไม่อยากให้ไทยสู้กันเอง

ข่าวทั่วไป Sunday March 7, 2010 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกรณีการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง โดยประชาชนส่วนใหญ่ 47.14% ไม่อยากให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นเพราะเกรงว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือเห็นคนไทยต้องมาต่อสู้กันเอง

สำหรับการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงหรือไม่นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ 51.76% ระบุว่าไม่แน่ใจ เพราะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และกลุ่มแกนนำเสื้อแดงว่าจะกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกไปอย่างไร รองลงมา 34.38% เชื่อว่ารุนแรง เพราะ มีประชาชนจากต่างจังหวัดเข้าร่วมจำนวนมาก, มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า และเป็นการสะสมความไม่พอใจมาเป็นเวลานาน ขณะที่อีก 13.86% เชื่อว่าไม่รุนแรง เพราะรัฐบาลคงเตรียมการล่วงหน้าเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ประชาชนส่วนใหญ่แสดงความเห็นในด้านที่รู้สึกเป็นห่วงถึงเป็นห่วงมากต่อการชุมนุมครั้งนี้ เนื่องจากมีบทเรียนจากครั้งที่ผ่านมา และยิ่งมีกระแสของการก่อวินาศกรรมออกมาให้รับรู้ รวมทั้งการที่มีคนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการควบคุมและอาจเกิดความเสียหายตามมา

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อ เพราะหากรัฐบาลไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้อง กลุ่มผู้ชุมนุมคงจะไม่ยุติลงง่ายๆ และจะต้องชุมนุมยืดเยื้อออกไป ส่วนผู้ที่เห็นว่าจะไม่ยืดเยื้อ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมก็มีภาระหน้าที่หรืองานที่ต้องทำ คงจะเข้าร่วมหลายวันไม่ได้ และการชุมนุมต้องใช้เงินจำนวนมาก

โดยผู้ที่จะช่วยคลี่คลายหรือควบคุมเหตุการณ์นี้ได้นั้น ผลสำรวจส่วนใหญ่ 33.81% ระบุว่าเป็นประชาชนทุกคน โดยเฉพาะประชาชนที่มาร่วมชุมนุม รองลงมา 25.23% ระบุว่าเป็นแกนนำกลุ่มเสื้อแดง หรืออดีตนายกฯ ทักษิณ และ 21.29% ระบุว่าเป็นนายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาล มีเพียง 19.67% ที่ระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ

การสำรวจยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่คาดว่าการชุมนุมครั้งนี้จะไม่จบลงง่าย เพราะต่างฝ่ายคงไม่ยอมรับข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องจากฝ่ายตรงข้าม,สถานการณ์มาถึงจุดที่จะต้องแตกหักแล้ว ฯลฯ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเตรียมการรับมือกับการชุมนุม เพราะมองว่าสถานที่ชุมนุมอยู่ไกล และคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงจะไม่รุนแรงหรือกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากนัก

พร้อมเสนอว่าวิธีแก้ไขให้การชุมนุมไม่ยืดเยื้อบานปลาย คือ พยายามป้องกันมือที่ 3 ไม่ให้เข้ามาสร้างสถานการณ์หรือก่อความวุ่นวายมากขึ้น รวมทั้งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ต้องใจเย็น อดทน ไม่ใช้กำลังหรืออาวุธแก้ปัญหา ขณะที่บทบาทของสื่อมวลชน ควรต้องเกาะติดสถานการณ์ รายงานข่าวด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง ตามข้อเท็จจริง

ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 2,376 คน ระหว่างวันที่ 2-6 มีนาคม 2553


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ