กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกรวม 42 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เตรียมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่ 8 — 12 มีนาคม 2553
พายุฤดูร้อนดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากพายุฤดูร้อน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย
อย่างไรก็ตาม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้กำหนด 7 มาตรการเร่งด่วนแก้ไขวิกฤตภัยแล้ง ให้จังหวัดดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้ 1.จัดหาน้ำอุปโภคบริโภค สำหรับในเขตเมือง ให้ประเมินปริมาณน้ำต้นทุนที่นำมาผลิตน้ำประปา และวางแผนรองรับกรณีขาดแคลน ส่วนเขตชนบท ให้เร่งซ่อมบำรุง จัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับระบบประปาหมู่บ้าน กำหนดจุดแจกจ่ายน้ำประจำหมู่บ้าน
2.จัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ให้ยึดมาตรการส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งเป็นหลัก พร้อมควบคุมพื้นที่ทำนาปรัง รวมถึงประสานสำนักฝนหลวงและการบินออกปฏิบัติการฝนหลวงทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย 3. สร้างรายได้และส่งเสริมอาชีพระยะสั้น ประสานให้ท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐจ้างแรงงานในหมู่บ้าน เพื่อสร้างได้แก่ราษฎรและป้องกัน การอพยพเข้าไปหางานทำในเมือง 4. ดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย ประสานให้สาธารณสุขจังหวัดวางแผนป้องกันโรคระบาดในช่วงฤดูร้อน พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ ไม่บริโภคอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด
5.ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จัดทำแผนป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้าย เพื่อมิให้ผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนซ้ำเติมอีก 6.เปิดสายด่วนภัยแล้ง สำหรับเป็นช่องทางให้ผู้ประสบภัยประสานขอความช่วยเหลือกรณีประสบความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง 7.เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติอื่นในฤดูร้อน เร่งวางแผนป้องกันและกำหนดแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากพายุฤดูร้อน อัคคีภัย หมอกควัน และไฟป่า รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนร่วมเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในฤดูร้อน