In Focusธรณีพิบัติภัยรับปีเสือดุ จากเฮติถึงชิลีและตุรกี

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 10, 2010 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในปีพุทธศักราช 2553 ซึ่งตรงกับปีเสือนี้ หลายคนขนานนามว่าเป็นปี “เสือยิ้ม" เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าจะบรรเทาเบาบางลงและดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สำหรับหลายคนแล้ว ปีนี้ถือเป็นปี “เสือดุ" เพราะนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมจนถึงบัดนี้ หรือนับเป็นเวลาไม่ถึง 60 วัน ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวอย่างน่ากลัวหลายสิบครั้งทั่วโลก ตั้งแต่ที่มีความรุนแรงในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรงมาก ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้ เราจึงขอลำดับเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากทั่วโลกดังต่อไปนี้

12 มกราคม — เฮติ

หลังผ่านเทศกาลแห่งความสุขในช่วงปีใหม่ไปได้เพียงไม่กี่วัน เหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โลกก็อุบัติขึ้น โดยในช่วงเช้าตรู่ขณะที่ผู้คนกำลังหลับใหลได้เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 7.0 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติไปประมาณ 16 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 10 กิโลเมตร จากนั้นก็เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายสิบครั้ง ส่งผลให้เมืองปอร์โตแปรงซ์และพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันออกราบเป็นหน้ากลอง อาคารบ้านเรือนพังถล่มเสียหายย่อยยับ โศกนาฏกรรมครั้งนี้มีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตไปกว่า 200,000 คน และทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยถึง 1.3 ล้านคน ซากศพของเหยื่อผู้เสียชีวิตจำนวนมากส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง ขณะที่ผู้รอดชีวิตต้องขาดแคลนปัจจัย 4 นอกจากนั้นยังเกิดวิกฤตอาหาร การใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ และการจลาจล จนกองกำลังทหารของสหรัฐและยูเอ็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์

ซ้ำร้ายชาวเฮติบางส่วนยังต้องเจอกับแผ่นดินและโคลนถล่มซ้ำทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นประชาชนจำนวนมากยังคงไม่มีที่พักอาศัยที่แข็งแรงพอสำหรับกำบังร่างกายในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ตาม ธารน้ำใจจากผู้นำประเทศ องค์กรการกุศล นักธุรกิจ ดารานักแสดง และประชาชนทั่วไปจากทั่วโลก ที่ต่างระดมทุนช่วยเหลือเฮติกันอย่างเต็มกำลัง ช่วยผลักดันให้กระบวนการรื้อถอนซากปรักหักพัง การสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการฟื้นฟูประเทศดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ประเทศเฮติที่เกิดขึ้นใหม่มีความแข็งแกร่งขึ้นและสามารถต้านทานภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้น

16 มกราคม — เวเนซูเอล่า

เกิดเหตุแผ่นดินไหว 5.7 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น จุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองคารูปาโนประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากกรุงคาราคัส เมืองหลวงของเวเนซูเอล่าไปทางทิศตะวันออกราว 375 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้พื้นดินราว 11.7 กิโลเมตร ซึ่งจุดที่เกิดแผ่นดินไหวนี้ห่างจากบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวในเฮติเพียง 1,300 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนทำให้อาคารในกรุงคาราคัสและเมืองอื่นๆสั่นไหว ทำให้ต้องมีการอพยพผู้คนออกมาจากอาคาร ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้บาดเจ็บ

17 มกราคม — อิหร่าน

เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 5.0 ริกเตอร์ เมื่อเวลาประมาณ 23.50 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีศูนย์กลางห่างไปทางเหนือของเมืองเดซฟุลราว 25 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่านราว 435 กิโลเมตร อยู่ลึกใต้พื้นดิน 10 กิโลเมตร ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้บาดเจ็บ

25 มกราคม — ญี่ปุ่น

เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.5 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 16.15 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากจังหวัดคาโกชิมะบนเกาะคิวชูไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 104 กิโลเมตร มีจุดศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปใต้ทะเลประมาณ 50 กิโลเมตร ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้บาดเจ็บ และไม่มีการประกาศเตือนภัยสึนามิ

26 มกราคม — เปรู

เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณเทือกเขาแอนดีสของเปรู วัดความรุนแรงได้ 5.8 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 17.52 น.ตามเวลาท้องถิ่น มีรายงานความเสียหายเล็กน้อย

28 มกราคม — ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย

เกิดเหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเลนอกชายฝั่งของประเทศฟิลิปินส์ เมื่อเวลา 02.49 น. ตามเวลาท้องถิ่น วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.1 ริกเตอร์ โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเกาะคาตันดูเนสไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงมะนิลาประมาณ 495 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้พื้นดิน 24.7 กม.

ต่อมาก็เกิดแผ่นดินไหวระดับ 5.1 ริกเตอร์นอกชายฝั่งของประเทศอินโดนีเซียเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยศูนย์กลางอยู่ห่างจากเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซียไปประมาณ 330 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้พื้นดิน 528.7 กิโลเมตร ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้บาดเจ็บ และไม่มีการเตือนภัยสึนามิ

13 กุมภาพันธ์ - ตองก้า

เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 6.3 ริกเตอร์ที่เกาะตองก้าในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเวลา 15.34 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากกรุงนูกูอะโลฟาเมืองหลวงของตองกาไปทางใต้ถึงตะวันออกเฉียงใต้เพียง 96 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ดิน 10 กิโลเมตร ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ

18 กุมภาพันธ์ — เกาหลีเหนือ

เกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.7 ริกเตอร์นอกชายฝั่งของเกาหลีเหนือด้านพรมแดนที่ติดกับจีนและรัสเซีย เมื่อเวลา 10.13 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองชองจินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 111 กิโลเมตร ลึกลงไปใต้ทะเล 562 กิโลเมตร ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้บาดเจ็บ

22 กุมภาพันธ์ - ไต้หวัน

เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 6.0 ริกเตอร์ ทางตอนเหนือของไต้หวัน เมื่อเวลา 13.21 น.ตามเวลาท้องถิ่น มีศูนย์กลางห่างจากเมืองซูอ้าวทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือไปทางตะวันออกราว 160 กิโลเมตร และอยู่ลึกลงไป 28 กิโลเมตร ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้บาดเจ็บ

27 กุมภาพันธ์ — ชิลี

แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเวลา 3.43 น.ตามเวลาท้องถิ่น เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงถึง 8.8 ริกเตอร์ บริเวณชายฝั่งตะวันตกของชิลี ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีศูนย์กลางห่างจากกรุงซานติอาโก เมืองหลวงของชิลีประมาณ 340 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็เกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกหลายต่อหลายครั้ง ส่งผลให้อาคารหลายหลังพังถล่ม สายโทรศัพท์ถูกตัดขาด และเกิดไฟฟ้าดับ นอกจากนั้นความรุนแรงของแผ่นดินไหวยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปถึงอีกหลายประเทศ

ในเบื้องต้นยอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 800 ราย แต่หลังจากนั้นตัวเลขก็ถูกปรับลดลงเหลือประมาณ 450 ราย หลังจากพบว่าผู้สูญหายหลายคนยังมีชีวิตอยู่ ขณะเดียวกันก็มีบ้านเรือนกว่า 5 แสนหลังพังพินาศ ส่งผลให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 2 ล้านคน

ล่าสุดสถานการณ์ในประเทศชิลีเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ โดยทั่วประเทศได้มีการจัดพิธีไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตเป็นเวลา 3 วัน ขณะที่เด็กนักเรียนนับแสนคนได้กลับไปเรียนตามปกติแล้ว

27 กุมภาพันธ์ — ญี่ปุ่น

ในวันเดียวกันก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งเกาะโอกินาว่าทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เมื่อเวลาประมาณ 5.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีของเกาะโอกินาว่า แต่โชคดีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บเพียง 2 คน ส่วนความเสียหายก็มีเพียงท่อประปาในเมือง 2 แห่งของโอกินาว่าเท่านั้น

28 กุมภาพันธ์ — อัฟกานิสถาน และ ปากีสถาน

ถัดจากนั้นเพียงหนึ่งวันก็เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรง 6.2 ริกเตอร์โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ภูเขาฮินดู กูช ของอัฟกานิสถาน แต่แรงสั่นสะเทือนขยายมาถึงปากีสถานด้วย แต่ไม่มีรายงานความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเพราะศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ในที่ห่างไกลผู้คน

4 มีนาคม — ไต้หวัน

เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ริกเตอร์ทางภาคใต้ของไต้หวันเมื่อเวลา 8.18 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองเกาสง เมืองใหญ่อันดับสองของไต้หวันราว 70 กิโลเมตร และอยู่ลึกลงไปใต้ทะเลราว 35 กิโลเมตร โดยแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ไกลถึงกรุงไทเปที่ห่างออกไปเกือบ 250 กิโลเมตร เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 60 คน นอกจากนั้นยังทำให้ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมทั้งไม่สามารถติดต่อสื่อสารและใช้บริการรถไฟได้

5 มีนาคม — อินโดนีเซีย

เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ ในทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา โดยศูนย์กลางอยู่ห่างจากเกาะสุมาตราไปทางตะวันตกราว 165 กิโลเมตร และห่างจากรัฐปาดังไปทางทิศใต้ราว 345 กิโลเมตร และอยู่ลึกลงไปประมาณ 22 กิโลเมตร ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้เสียชีวิต และไม่มีการประกาศเตือนภัยสึนามิ

8 มีนาคม — ตุรกี

ขณะที่ประชาคมโลกยังไม่หายตื่นตระหนกตกใจกับเหตุแผ่นดินไหวที่เฮติและชิลี ก็เกิดแผ่นดินไหววัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.2 ริกเตอร์ที่จังหวัดเอลาซิก ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของตุรกี เมื่อเวลา 4.32 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้ดินเพียง 5 เมตร หลังจากนั้นได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกกว่า 30 ครั้ง สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนในหมู่บ้านหลายแห่ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 60 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 70 ราย

ล่าสุดทางการตุรกีประกาศเตือนไม่ให้ประชาชนในจังหวัดเอลาซิกเข้าไปสำรวจบ้านเรือนที่เสียหาย เนื่องจากอาจเกิดการพังถล่มลงมาอีกจากอาฟเตอร์ช็อก

9 มีนาคม — พม่า

ตบท้ายด้วยเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา โดยเมื่อเวลา 20.03 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหว 4.5 ริกเตอร์ที่ประเทศพม่า ห่างจาก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 48 กิโลเมตร โดยสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ใน ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจาก อ.แม่อาย ประมาณ 120 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ทางพม่ายังไม่มีรายงานความเสียหายแต่อย่างใด

แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นเรียงประกอบกันเหมือนจิ๊กซอว์ โดยการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกมี 3 ลักษณะ คือ การชนกัน การแยกหรือปริออกจากกัน และการเคลื่อนที่ในลักษณะเสียดสีกัน เมื่อเปลือกโลกเกิดการเคลื่อนไหวไม่ว่าลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือผสมกันก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหว ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าปัจจุบันการพยากรณ์แผ่นดินไหวยังไม่สามารถกระทำได้อย่างถูกต้องแม่นยำตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งในด้านเวลาและสถานที่

ดังนั้น เมื่อแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่ยากต่อการคาดเดา ขณะเดียวกันการป้องกันความเสียหายก็ทำได้ยาก เราจึงได้แต่หวังว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยให้ประชาคมโลกสามารถนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกับธรณีพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากเราไม่อาจทราบได้แน่นอนว่า แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อใด ประเทศใดจะเป็นเหยื่อรายต่อไปที่ต้องประสบชะตากรรมอันโหดร้ายเช่นนี้ และที่สำคัญเหตุการณ์ที่ผ่านมาอาจเป็นเพียงแค่การ “โหมโรง" สู่ภัยพิบัติที่หนักหน่วงยิ่งกว่านี้หรือไม่ ไม่มีใครสามารถฟันธงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ