กษ.-กรมชลฯบริหารน้ำลุ่มเจ้าพระยาให้เพียงพอพื้นที่เพาะปลูก7.4ล้านไร่

ข่าวทั่วไป Thursday March 11, 2010 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับอธิบดีกรมชลประทานถึงแนวทางการปรับแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหม่ เนื่องจากสถานการณ์การใช้น้ำขณะนี้มีความน่าเป็นห่วงมาก เพราะปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือใช้ถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้เพียง 380-400 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จากปริมาณน้ำที่จัดสรรไว้ 8 พันล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่แผนการเพาะปลูกพืชบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาเดิมที่วางไว้ 5.5 ล้านไร่ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึง 7.4 ล้านไร่

ดังนั้น กรมชลประทานจะนำน้ำสำรองจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จำนวน 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำที่ไหลเพิ่มเข้ามาในอ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย และป่าสักชลสิทธิ์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2552 จนถึงเดือนนี้อีกประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตรมาใช้บริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก 7.4 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งหากเกินกว่านี้หรือเกษตรกรยังยืนยันที่จะทำนาปรังรอบที่ 2 ปริมาณน้ำในเขื่อนจะต้องมีมากถึง 4-5 พันล้านลูกบากศ์เมตร ซึ่งยืนยันว่าไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะปริมาณที่เหลือในเขื่อนจำเป็นต้องมีสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนและฝนทิ้งช่วงปีถัดไปด้วย

นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติข้อมูลปริมาณน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ปีนี้ยังนับว่ามีปริมาณมากกว่าปี 2547 ซึ่งข้อมูลปริมาณน้ำต่ำสุดคือปี 2513-2514 ซึ่งขณะนั้นกระทรวงเกษตรฯได้ชี้แจงให้เกษตรกรเลื่อนการทำนาปีออกไป ส่วนสาเหตุที่หลังจากนั้น ประเทศไทยมีน้ำใช้ตลอดเนื่องจากปี 2549 ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำเต็มอ่างจุได้ถึง 22,000 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานจึงจัดสรรน้ำจำนวนดังกล่าวมาใช้จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมชลประทานเข้าไปดูโครงการพระราชดำริแก้มลิงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าโครงการใดสามารถเร่งรัดให้แล้วเสร็จเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในแต่ละจุดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ