ก.เกษตรฯ เผยพื้นที่เกษตรเสียหายจากภัยแล้งแล้ว 2.35 หมื่นไร่ใน 9 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Thursday March 18, 2010 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจและติดตามพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งขณะนี้มีอยู่ทั้งสิ้น 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ สุโขทัย ลำปาง อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี สตูล และตรัง จากพื้นที่ประสบภัยแล้งทั้งหมด 43 จังหวัด

แบ่งเป็น ความเสียหายด้านพืชในพื้นที่ประสบภัย 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ สุโขทัย ลำปาง อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี สตูล และตรัง พื้นที่การเกษตรประสบภัย 133,563 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ไม่เสียหายแล้ว 87,160 ไร่ อยู่ระหว่างเฝ้าระวัง 22,826 ไร่ และพื้นที่เสียหายแล้ว 23,577 ไร่ โดยช่วยเหลือด้วยเงินทดรองราชการแล้ว 0.46 ล้านบาท จะของบกลางเพื่อช่วยเหลืออีก 19.31 ล้านบาท

ส่วนด้านปศุสัตว์ พบพื้นที่ประสบภัย 3 จังหวัด คือ ลำปาง สุโขทัย และตรัง สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ คือ โค-กระบือ จำนวน 3,783 ตัว ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้เร่งให้การช่วยเหลือโดยสนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 81.8 ตันในพื้นที่ประสบภัยแล้วเช่นกัน สำหรับการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้งนั้น

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการวางแผนและติดตามการป้องกัน รวมทั้งประเมินสถานการณ์ในการเร่งแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเข้าสู่สถานการณ์ภัยแล้งที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้อุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนในเดือน มี.ค.-เม.ย.สูงกว่าปกติ ขณะเดียวกันปริมาณฝนก็จะต่ำกว่าปกติ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 45,032 ล้าน ลบ.ม.ขณะนี้คิดเป็น 61% ซึ่งน้อยกว่าปี 52 จำนวน 4,006 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 5% ส่วนสภาพน้ำในลำน้ำ แม่น้ำปิงตอนบนเหนือเขื่อนภูมิพล แม่วังตอนบนเหนือเขื่อนกิ่วคอหมา แม่น้ำยมตอนบนเหนือจังหวัดสุโขทัย แม่น้ำน่านตอนบนของเขื่อนสิริกิติ์ สภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยเช่นกัน

ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 684 เครื่อง ในพื้นที่ 40 จังหวัด และรถบรรทุกน้ำ 8 คัน ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 15 จังหวัด จำนวน 231 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด จำนวน 246 เครื่อง ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก 12 จังหวัด จำนวน 171 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ จำนวน 8 คัน และภาคใต้ 3 จังหวัด จำนวน 33 เครื่อง รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำฝนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่

สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 ศูนย์ 7 หน่วย ได้แก่ ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ภาคกลาง จ. นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และ จ.อุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ระยอง และภาคใต้ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยผลการปฏิบัติการฝนหลวงสะสม ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม ถึง 4 มีนาคม 2553 ขึ้นปฏิบัติการ จำนวน 11 วัน 62 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี วัดปริมาณน้ำฝนได้ 0.1 — 30.3 มิลลิเมตร

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังพบว่าหลายพื้นที่มีการปลูกพืชฤดูแล้งเกินกว่าเป้าหมายของแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 20,720 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำแล้ว 16,150 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 78% ของแผนทั้งหมด แต่ถ้าเปรียบเทียบกับแผนปัจจุบันเกินไป 5% และในลุ่มเจ้าพระยากำหนดแผนไว้ 8,000 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรแล้ว 7,864 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 98% แต่ถ้าเปรียบเทียบกับแผนปัจจุบันเกินไป 27% จึงขอเน้นย้ำความร่วมมือเกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงต้นฤดูฝน

กระทรวงเกษตรฯ ยังได้มีการกำหนดแผนเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรกระทรวงฯ แจ้งสถานการณ์น้ำ สถานการณ์การปลูกพืช สถานการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดรับทราบและประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตราเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและรายงานให้กระทรวงทราบ รวมทั้งวางแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกษตรกรรับทราบข้อเท็จจริงและปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ