สถานที่สำคัญในเมืองต่างๆของโลก อาทิ หอไอเฟลในกรุงปารีส ตึกเอ็มไพร์สเตทในนิวยอร์ก โอเปราเฮาส์ในซิดนีย์ พระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง และโตเกียวทาวเวอร์ จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของโลก 1,200 แห่งในเมืองต่างๆมากกว่า 4,000 เมืองที่เข้าร่วมโครงการ Earth Hour ของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน ด้วยการดับไฟพร้อมกันเป็นเวลา 1 ชั่วโมงในเวลา 20.30 น. ของวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งนอกจากรัฐบาลของแต่ละประเทศแล้ว คาดว่าบริษัทห้างร้าน ตลอดจนบ้านเรือนของประชาชนก็จะร่วมปิดไฟเช่นกัน
โดยในปีนี้ มีประเทศเข้าร่วมโครงการมากเป็นประวัติการณ์ถึง 125 ประเทศ ตั้งแต่บราซิลถึงซิมบับเว และยังเป็นปีแรกที่ทั้ง 20 ประเทศในกลุ่มจี20 มีส่วนร่วมกับโครงการนี้ ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นที่เข้าร่วมโครงการนี้เป็นปีแรก
ทั้งนี้ หมู่เกาะ Chatham Islands ของนิวซีแลนด์จะเป็นสถานที่แรกในโลกที่ปิดไฟ ขณะที่ประเทศซามัวในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้จะเป็นประเทศสุดท้าย ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีเวลาต่างกันประมาณ 24 ชั่วโมง
แอนดี้ ริดลีย์ ผู้ก่อตั้ง Earth Hour เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สื่อสังคม อย่าง เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ที่ผู้คนใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน กำลังมีส่วนผลักดันให้โครงการนี้ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เขากล่าวว่า ความสำคัญของกิจกรรมนี้คือ สิ่งที่รัฐบาล บริษัท และประชาชนจะดำเนินการต่อภายหลังการปิดไฟหนึ่งชั่วโมง (Earth Hour)
ทั้งนี้ กิจกรรม Earth Hour ได้เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกที่ซิดนีย์ในปี 2550 เมื่อประชาชน 2 ล้านคนร่วมปิดไฟเพื่อแสดงจุดยืนเรื่องภาวะโลกร้อน จากนั้นจึงได้กลายเป็นกิจกรรมระดับโลกในปี 2551 โดยมีประชาชนมากกว่า 50 ล้านคนจาก 35 ประเทศเข้าร่วม ขณะที่ในปีที่แล้ว 4,159 เมือง และสถานที่สำคัญใน 88 ประเทศร่วมปิดไฟ
สำหรับทูตประจำโครงการรวมถึง อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และ เหม่ยหลาน แพนด้าในเฉิงตู เป็นต้น สำนักข่าวเกียวโดรายงาน