นักวิชาการและเอกชนเล็งทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาถอดถอนโครงการหรือกิจกรรมการทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบการผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับ GM (Genetically Modified) ซึ่งเป็นโครงการลำดับที่ 18 ออกจากบัญชีรายการโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ซึ่งมีทั้งหมด 19 โครงการ ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราอาณาจักรไทย ภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหามาบตาพุดไปแล้ว
โดยเนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือดังกล่าว ระบุอย่างชัดเจนว่า ให้ถอดถอนโครงการดังกล่าว ออกจากบัญชีรายการ เนื่องจากในปัจจุบันพืช GM ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพืช GM มีความโดดเด่นเรื่องความทนทานต่อศัตรูพืช และมีต้นทุนในการปลูกต่ำกว่าการปลูกพืชธรรมชาติ ทำให้ประเทศต่างๆในโลกพยายามพัฒนาพืชจีเอ็มออกมาแข่งขันในตลาดโลกอยู่ตลอดเวลา แต่ในส่วนของไทยซึ่งในอดีตก็มีการปลูกพืชจีเอ็ม เช่น ข้าวโพด ฝ้าย แต่เพราะความเชื่อผิดๆ ว่าพืชจี่เอ็มเป็นพืชผีหรือแฟรงเกนสไตล์ทำให้ถูกต่อต้านเรื่อยมา จนทุกวันนี้ไทยต้องสูญเสียงบประมาณนำเข้าข้าวโพด ฝ้าย ปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะยังต้องนำเข้าตลอดไปหากยังมีการคัดค้านพืชจีเอ็ม
"ผมมองว่าบ้านเราพยายามผลักดันเรื่องเทคโนโลยี แต่กลับมาต่อต้านเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมโดยใช้อารมณ์มาหักล้าง เพราะคนที่ผลักโครงการที่ 18 เข้าไปอยู่ในบัญชีรายการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนรุนแรงนี้ ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจเรื่องจีเอ็ม แล้วจะมาตัดสินได้ยังไงว่าโครงการจีเอ็มกระทบชุมชนรุนแรง และจากการที่ได้ไปสังเกตการณ์การทำประชาพิจารณ์ทั้ง 5 ภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี นครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯ ก็มีแต่ข้อมูลลอย ใช้ความเชื่อ ความรู้สึกในอดีต แต่ไม่มีเอกสารทางวิชาการมายืนยันหรืออ้างอิงอย่าชัดเจนว่าจีเอ็มกระทบชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมยังไง
ตรงกันข้ามผมว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากจีเอ็มด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้ที่ไหนในโลกแม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเวียดนาม ลาว ก็มีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อในอนาคตสินค้าจีเอ็มในตลาดโลกจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ดังนั้น ไทยยังมีความเชื่อแบบโบราณอยู่ก็คงแข่งขันในตลาดโลกลำบาก"นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าว
นายพรศิลป์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยส่งออกเกษตรและอาหารคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปี หากยังมีการคัดค้านต่อต้านจีเอ็มอยู่คาดว่าจะทำให้สูญเสียมูลค่าการส่งออกราว 10% ต่อปี เนื่องจากเสียเปรียบด้านการแข่งขันโดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านราคา
ด้าน ดร.อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบาย และอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร, รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการ หลังการเก็บเกี่ยว กรมวิชาการเกษตรร่วมกันแสดงความคิดเห็น ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 มีเจตนาที่ดีที่ต้องการทำกับโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่การทำการเกษตรในไทย ส่วนมากเป็นเกษตรกรขนาดเล็ก หากจะปลูกพืชจีเอ็มโอที่ผ่านการประเมินความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมาก่อนแล้ว ยังต้อมาเข้าสู่กระบวนการมาตรา 67 วรรค 2 อีก จะกลายเป็นอุปสรรคจนในที่สุดประเทศไทยจะเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอในที่สุด จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะกำหนดให้การปลูกพืชจีเอ็มโอต้องเข้าสู่กระบวนการ 67 วรรค 2
และในการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนใน 5 ภูมิภาค ซึ่งมีนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากมหาวิทยาลัยและสถาบันของภาครัฐ ร่วมแสดงนำเสนอข้อมูลวิชาการและมีความเห็นว่า ควรถอดถอนการทำเกษตรกรรมเชิงการค้าเกี่ยวกับวัตถุดิบการผลิตอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับ GM (Genetically Modified) ออกจากบัญชีรายการโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง