ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ทำการสำรวจความเห็นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่อการมาท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ในช่วงการชุมนุมทางการเมือง พบว่า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ระบุว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นส่งผลต่อการตัดสินใจมาท่องเที่ยว กรุงเทพฯ มากถึงร้อยละ 41.4 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากการ สำรวจเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม — 1 พฤศจิกายน 2552 ที่ร้อยละ 19.3
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวร้อยละ 75.5 มีความต้องการจะกลับมาเที่ยวกรุงเทพฯ อีกครั้ง ร้อยละ 2.7 จะไม่กลับ และร้อยละ 21.8 ยังไม่แน่ใจ
ร้อยละ 82.8 ยินดีที่จะแนะนำและบอกต่อให้ผู้อื่นมาเที่ยวกรุงเทพฯ ร้อยละ 0.7 จะไม่แนะนำ (โดยให้เหตุผลว่า มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เสียงดัง และทางเดินเท้าไม่สะอาด) และ ร้อยละ 16.5 ไม่แน่ใจ
และเมื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเมืองหลวงที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุด 5 อันดับแรกในความเห็นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวกรุงเทพฯ (เปรียบเทียบเฉพาะ 11 เมืองในกลุ่มเครือข่ายเมืองใหญ่แห่งเอเชีย 21 (The Asian Network of Major Cities 21 หรือ ANMC21) ได้แก่ กรุงเดลี กรุงฮานอย กรุงจาการ์ตา กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงมะนิลา กรุงโซล กรุงโตเกียว กรุงไทเป กรุงย่างกุ้ง สิงคโปร์ และกรุงเทพมหานคร) พบว่า อันดับ 1 กรุงเทพฯ ประเทศไทย ยังเป้นเมืองหลวงที่น่าท่องเที่ยว ร้อยละ 31.9 อันดับ 2 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ร้อยละ 19.0 อันดับ 3 สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 12.6 อันดับ 4 กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 8.8 อันดับ 5 กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ร้อยละ 7.6
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้สำรวจโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป บริเวณแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาตินิยมไป 8 แห่งของกรุงเทพฯ ได้แก่ 1) ถนนข้าวสาร 2) ถนนสีลม 3) ประตูน้ำ - พระพรหม — แยกราชดำริ 4) ตลาดนัดจตุจักร - สวนจตุจักร 5) วัดพระแก้ว — วัดโพธิ์ 6) สถานีรถไฟหัวลำโพง - ถนนเยาวราช 7) ถนนสุขุมวิท - แยกอโศก 8) สวนลุมไนท์บาซาร์ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 449 คน เป็นเพศชายร้อยละ 55.5 และ เพศหญิงร้อยละ 44.5