นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. กล่าวว่า จากการสำรวจ พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตติ์ขณะนี้อยู่ในระดับต่ำร้อยละ 38 ของความจุอ่างทั้งหมด แต่ถือว่ามีปริมาณเพียงพอในการใช้อุปโภค-บริโภคโดยเฉพาะการทำนาปรัง
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนปีนี้จะมาล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 2 เดือน เนื่องจากเกิดปรากฎการณ์เอลนิโย่ขึ้น แต่มั่นใจว่าปริมาณน้ำจะมีพอเพียงใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้
โดยพิจารณาจากปริมาณน้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งในส่วนของพื้นที่ที่เกิดปัญหาภัยแล้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้จัดรถบริการน้ำให้กับประชาชนและเกษตรกรที่ต้องการน้ำใช้บริโภคและทำการเกษตร
ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศมีพื้นที่ประกาศภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) แล้วจำนวน 60 จังหวัด, 464 อำเภอ, 3,007 ตำบล, 24,263 หมู่บ้าน แบ่งเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด, ภาคกลาง 9 จังหวัด, ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 8 จังหวัด
มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 7,481,682 คน, 2,018,438 ครัวเรือน และมีพื้นที่การเกษตรได้รับเสียหายรวม 319,388 ไร่