นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งของปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553 เป็นต้นมา จำนวน 5 ศูนย์ ประจำทั้ง 5 ภาคของประเทศ และทยอยส่งเครื่องบินไปตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค ตามความเหมาะสมของสภาพความชื่นสัมพันธ์ในอากาศและสถานการณ์ภัยแล้งของพื้นที่
ขณะนี้ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 10 หน่วย และได้จัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวงจังหวัดตาก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมพื้นที่ช่วยเหลือมากขึ้น ดังนี้ 1. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพิษณุโลก และฐานเติมสารฝนหลวงจังหวัดตาก 2. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคกลางที่จังหวัดนครสวรรค์ 3. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดนครราชสีมา 4. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคตะวันออกที่จังหวัดระยองและจังหวัดจันทบุรี 5. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคใต้ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และสุราษฎร์ธานี โดยเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงรวมทั้งหมด จำนวน 22 ลำ
สำหรับจังหวัดที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งและมีหนังสือขอรับบริการฝนหลวงช่วยเหลือ รวมทั้งหมดตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 จำนวน 33 จังหวัด โดยในการปฏิบัติการฝนหลวง ได้วางแผนช่วยเหลือทุกพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งตามสภาพที่เป็นจริงจากการประสานงานในพื้นที่ สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยงานปฏิบัติการฝนหลวงแต่ละหน่วย ในปี 2553 ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงวันแรกของแต่ละหน่วย ทั้ง 10 หน่วย จนถึงปัจจุบัน มีการขึ้นบินปฏิบัติการรวม 43 วัน มีรายงานฝนตกในการปฏิบัติการ รวม 31 วัน จำนวน 244 สถานี วัดปริมาณน้ำฝนรายวันสูงสุดได้ 135.4 มิลลิเมตร จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 55 จังหวัด จากจำนวนจังหวัดที่อยู่ในเป้าหมายทั้งหมด 70 จังหวัด