นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์และผ่านฟ้า ประกอบด้วย 1.ขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภงด.50) จากที่กรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.52 และต้องยื่นชำระภาษีภายในวันที่ 30 พ.ค.53 โดยได้ขยายระยะเวลาไปถึง 30 ก.ย.53
2.การขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ซึ่งปกติกำหนดให้ชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เห็นสมควรขยายการยื่นแบบฯ ออกไป 2 เดือนนับจากวันที่สิ้นสุดวันชุมนุม โดยจะมีการพิจารณาสำหรับการยื่นคำร้องเฉพาะราย 3.การขยายระยะเวลายื่นแบบภาษีเงินหัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1,ภ.ง.ด.3) จากปกติให้ชำระภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป เห็นสมควรขยายการยื่นแบบฯออกไป 2 เดือน นับจากวันสิ้นสุดวันชุมนุม โดยจะมีการพิจารณาสำหรับการยื่นคำร้องเฉพาะราย
นายวัชระ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรียังอนุมัติมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ย่านราชประสงค์ และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยกระทรวงการคลังเน้นว่าเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ราชประสงค์, ประตูน้ำ, ผ่านฟ้า และอาจครอบคลุมถึงสีลม รวมทั้งใกล้บ้านพักนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งทั้งหมดเข้าข่ายมาตรการสินเชื่อโดย SMEs BANK มีวงเงิน 5 พันล้านบาท
ทั้งนี้จากเดิมที่ให้กู้ได้ไม่เกิน 3 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงจากเดิม 5 ล้านบาท ระยะเวลาสิ้นสุดการขอสินเชื่อในวันที่ 31 ธ.ค. หรือเต็มวงเงินสินเชื่อ ระยะเวลาการกู้ยืมให้กู้ได้ไม่เกิน 5 ปี ดอกเบี้ย MLR -3 ต่อปี ตลอดระยะเวลาการให้กู้ยืม โดยปีแรกจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้น สำหรับหลักประกันคือ ที่ดิน, บุคคลธรารมดาหรือนิติบุคคล หรือค้ำประกันไขว้
นายวัชระ กล่าวว่า ในครม.ได้แสดงความเป็นห่วงหากเป็นผู้ประกอบการติด NPL ซึ่งนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่าในพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่มีผลประกอบการดี ไม่ติด NPLทั้งนี้อาจจะพิจารณาเป็นเฉพาะรายไป
ส่วนมาตรการช่วยเหลือพนักงานและลูกจ้างในย่านราชประสงค์นั้นเป็นการยืนยันตามที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอนุมัติไว้ 5 มาตรการ คือ 1.พนักงานหรือลูกจ้างที่ถูกให้ออกจากงาน หรือยุติการจ้างงานรายวันหรือชั่วคราว ขอให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงินชดเชย โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของเดือนมีนาคมเป็นเกณฑ์ 2.พนักงานหรือลูกจจ้างที่ขาดรายได้จากส่วนแบ่งจากการขายและบริการหรือคอมมิสชั่น ขอให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงินชดเชย โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายได้ที่เกิดขึ้นจริงของเดือนมี.ค.53 เป็นเกณฑ์
3.พนักงานหรือลูกจ้างที่นายจ้างยังคงรักษาสภาพการเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง และยังคงจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างเป็นปกติ ขอให้พิจารณาสนับสนุนแก่นายจ้าง โดยให้คิดจำนวนวันที่รัฐให้เงินสนับสนุนนับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.53 จนกระทั่งการชุมนุมสิ้นสุด หากรัฐมิสามารถจัดสรรเงินสนับสนุนดังกล่าว ให้กิจการตั้งเป็นยอดเครดิตเพื่อหักการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือภาษีนิติบุคคลที่กิจการต้องนำส่งในอนาคต
4.หากไม่สามารถชดเชยหรือให้การสนับสนุนได้ขอให้พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเพิ่มค่าลดหย่อนแก่พนักงานและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรงสำหรับภาษีปี 2553 และ 5.ยกเว้นการหักเงินประกันสังคมสำหรับพนักงานและลูกจ้าง และงดการนำส่งเงินกองทุนทดแทนแรงงานสำหรับช่วงระยะเวลาที่เกิดการชุมนุม