นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล ปี 2552 — 2555 ที่เน้นเป้าหมายในการยกระดับรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยจาก 64,000 บาท /ปี เป็นไม่ต่ำกว่า 120,000 บาท/ครัวเรือน/ปี และเพิ่มมูลค่าการผลิตภาคเกษตรประมาณปีละ 10,600 ล้านบาท ซึ่งมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในปี 2552 — 2553 ไว้ที่หมู่บ้านจำนวน 696 หมู่บ้านที่มีรายได้ต่ำกว่า 64,000 บาท/ครัวเรือน/ปี เป็นลำดับแรก
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำแผนงานเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรในพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนใต้ไว้หลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องข้าว กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากที่ผ่านมาการปลูกข้าวในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในท้องถิ่น เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น พื้นที่ที่เหมาะสมในการทำนามีน้อย พื้นที่บางส่วนเป็นดินเปรี้ยวและดินเค็มทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ประกอบกับเกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจตัวอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
นอกจากนี้ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่มีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถปลูกข้าวได้อย่างเต็มที่ เกษตรกรจำนวนมากได้ปล่อยที่นาให้รกร้างว่างเปล่าและหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน ส่งผลให้มีการสั่งซื้อข้าวจากจังหวัดอื่นมาบริโภคไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูนาข้าวที่ถูกทิ้งร้างในพื้นที่ชายแดนใต้ทั้ง 5 จังหวัดให้กลับมาเป็นแหล่งอาหารอย่างยั่งยืน สามารถบริโภคได้อย่างเพียงพอในครัวเรือน
กระทรวงเกษตรฯจึงได้จัดให้มีโครงการฟื้นฟูนาร้างเพื่อการปลูกข้าวขึ้นโดยมีเป้าหมายดำเนินการใน 696 หมู่บ้าน ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งคัดเลือกพื้นที่นำร่องในการจัดงานรณรงค์ฟื้นฟูนาร้างฯ ขึ้น ณ หมู่ที่ 1 ต.เชิงแส อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา เพราะเป็นพื้นที่ที่สามารถทำการฟื้นฟูนาร้างได้ในฤดูนาปรังและเป็นพื้นที่ที่ผ่านการประชาคมหมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 31 ราย พื้นที่นาร้างที่จะทำการฟื้นฟูทั้งสิ้น 217.75 ไร่
ด้านนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ์ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน และกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าไปดำเนินการในโครงการดังกล่าว โดยกรมพัฒนาที่ดิน รับหน้าที่ปรับสภาพพื้นที่นาร้างให้มีความเหมาะสมสามารถทำการปลูกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกรมการข้าวให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 15 กก./ไร่ และปุ๋ยเคมี 20 กก./ไร่ ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
พร้อมกันนี้ กรมการข้าวจะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรต่อไป สำหรับแผนการดำเนินงานนั้นหลังจากฟื้นฟูในพื้นที่นำร่องเสร็จจะขยายผลในพื้นที่เป้าหมายอีก 3,847 ไร่ เกษตรกร 881 ราย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการประมาณเดือนสิงหาคม — กันยายน 2553