การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ มีการตั้งกระทู้ถามสดต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ถึงการเตรียมตั้งจังหวัดบึงกาฬขึ้นเป็นจังหวัดที่ 77 โดยนายเทวฤทธิ์ นิกรเทศ ส.ส.สัดส่วน พรรคกิจสังคม กล่าวว่า อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ถือว่ามีความพร้อมที่จะเลื่อนฐานะขึ้นเป็นจังหวัดได้ ประกอบกับมีหน่วยงานราชการสำคัญๆ ตั้งอยู่จำนวนมาก และยังมีความพร้อมในระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่ง ประชาชนในพื้นที่ก็เห็นด้วย จึงอยากทราบว่ารัฐบาลมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการจัดตั้งจังหวัดใหม่
ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ชี้แจงว่า หลักเกณฑ์การตั้งจังหวัดใหม่นั้นต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี คือ 1.ต้องมีไม่น้อยกว่า 8 อำเภอ 2.มีประชากรไม่น้อยกว่า 3 แสนคน 3.หน่วยงานราชการที่จะมาเป็นจังหวัดใหม่มีความพร้อมหรือไม่ และประเด็นสำคัญคือประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุนหรือไม่
ทั้งนี้จากการสำรวจประชากรทั้ง 17 อำเภอใน จ.หนองคาย ปรากฏว่ามีประชาชนเห็นด้วย 98.83% องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 126 แห่ง เห็นด้วย 96% หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอและระดับจังหวัด เห็นด้วย 100% ดังนั้นการเสนอ จ.บึงกาฬ จึงถือว่าผ่านเกณฑ์ทั้งหมดแล้ว ในขณะที่ อีก 3จังหวัดใหม่ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ จ.แม่สอด ที่จะแยกมาจาก จ.ตาก จ.พระนารายณ์ ที่จะแยกมาจาก จ.ลพบุรี และ จ.ฝางที่จะแยกมาจาก จ.เชียงใหม่ ดังนั้นในส่วนของ จ.บึงกาฬ ถือว่ากระทรวงมหาดไทยเห็นด้วย และอยู่ในกระบวนการที่จะนำเข้าเสนอต่อที่ประชุมครม.
"จะต้องมีการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องเงิน บุคลากร คือ สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) และเมื่อครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบก็ต้องส่งเรื่องเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬต่อไป ยืนยันว่ารัฐบาลจะผลักดันตามกฎหมายให้เร็วที่สุด" นายบุญจง กล่าว
อนึ่ง จ.หนองคาย มีพื้นที่ 17 อำเภอ ซึ่งการเสนอจัดตั้ง จ.บึงกาฬ จะมีการแยก 8 อำเภอ ออกมาจาก จ.หนองคาย ประกอบการ อ.บึงกาฬ, อ.ปากคาด, อ.โซ่พิสัย, อ.พรเจริญ, อ.เซกา, อ.บึงโขงหลง, อ.ศรีวิไล และ อ.บุ่งคล้า ส่วนประชากรทั้ง 8 อำเภอ มีประมาณ 390,000 คน ด้านความพร้อมของหน่วยงานราชการนั้น ที่ อ.บึงกาฬ มีพื้นที่ 791 ตารางกิโลเมตร มีทั้งศาลจังหวัด, อัยการจังหวัด, เรือนจำ, คลังอำเภอ และสาธารณูปโภคอื่นๆ ไฟฟ้า ประปา