ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การทดสอบเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT สายสาทร-ราชพฤกษ์ ซึ่งนับเป็นรถ BRT สายแรกของประเทศไทยในวันนี้ เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนเปิดเดินรถโดยไม่เก็บค่าโดยสารในวันที่ 15 พ.ค.53 นี้ และจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในวันที่ 1 ก.ย.นี้ โดยเก็บค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย ในช่วงแรก
โดยเส้นทาง BRT สายสาทร-ราชพฤกษ์ เริ่มต้นจากแยกสาทร-นราธิวาส ซึ่งสามารถเดินเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรีได้ วิ่งไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ผ่านถนนจันทน์ เข้าสู่แยกนราราม 3 แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนพระรามที่ 3 ผ่านแยกสาธุประดิษฐ์ ผ่านถนนเจริญกรุง ขึ้นสะพานพระราม 3 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนรัชดาภิเษก ไปสิ้นสุดเส้นทางใต้สะพานข้ามทางแยกรัชดา-ราชพฤกษ์ และวิ่งกลับไปเส้นทางเดียวกัน ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร มี 12 สถานีขึ้นลงในเส้นทาง
ได้แก่ สถานีสาทร สถานีอาคารสงเคราะห์ สถานีเย็นอากาศ สถานีถนนจันทน์ สถานีนราราม 3 สถานีวัดด่าน สถานีวัดปริวาศ สถานีวัดดอกไม้ สถานีสะพานพระราม 9 สถานีเจริญราษฎร์ สถานีสะพานพระราม 3 และสถานีราชพฤกษ์ โดยเป็นเส้นทางนำร่องสายแรก
"ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างเส้นทางและสถานีทั้ง 12 แห่ง แล้วเสร็จ 99 % เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดเท่านั้น และอยู่ระหว่างการดำเนินการเซ็นสัญญาระบบจราจรอัจฉริยะ และการก่อสร้างจุดจอดและจุดซ่อมบำรุง" ดร.ธีระชน กล่าว
ทั้งนี้ รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit) หรือ BRT เป็นระบบขนส่งมวลชนทางถนนรูปแบบหนึ่งที่กรุงเทพมหานครพัฒนาด้วยมูลค่าการลงทุนต่ำ ก่อสร้างได้รวดเร็ว วิ่งในทางเฉพาะบนช่องจราจรขวาสุด เพื่อเลี่ยงจุดตัดกับถนนและซอยต่างๆ ทำให้สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ในเวลาเพียงแค่ 30 นาที และมีรถให้บริการทุก 5 — 10 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00 — 24.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน โดยตัวรถประจำทางพิเศษ BRT จะมีคุณลักษณะพิเศษที่ต่างจากรถโดยสารมวลชนทั่วไป อาทิ ระบบ GPS กล้องทีวีวงจรปิด ติดตั้งระบบจราจรอัจฉริยะ และมีพื้นที่สำหรับผู้พิการ ผู้บกพร่องทางร่างกายด้วย
โดยในวันที่ 15 พ.ค. 53 กทม.จะทำพิธีเปิดเดินรถ BRT อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นการเปิดให้บริการช่วงทดลองวิ่งแบบไม่เก็บค่าโดยสาร จากนั้น วันที่ 1 ก.ย. 53 เปิดให้บริการช่วงลดค่าโดยสาร โดยเก็บค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย ซึ่งในขั้นนี้ระบบ ITS จะพร้อมให้บริการแบบอัตโนมัติ ระบบ AFC ติดตั้งแล้วเสร็จ พร้อมให้บริการตั๋วเที่ยวเดียว ราคาเดียว ติดตั้งระบบลิฟท์สำหรับผู้พิการแล้วเสร็จ และจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่แยกสาทร-นราธิวาส ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยกรุงเทพมหานครกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 2 ม.ค. 54 ซึ่งจะคิดค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้น 12—20 บาท ตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง
ทั้งนี้ เมื่อ BRT เปิดให้บริการ กรุงเทพมหานครคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารในเส้นทางแรก สายสาทร-ราชพฤกษ์ ไม่น้อยกว่า 35,000 เที่ยวคนต่อวัน สามารถลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในแนวเส้นทาง ที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ BRT ประมาณวันละ 5,000 คัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกรุงเทพมหานคร จะเร่งขยายโครงการระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ อีก อาทิ ส่วนต่อขยายสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2554 และส่วนต่อขยายจากสถานีวงเวียนใหญ่-บางหว้า ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ ภายในปี 2555