ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพื่อความปรองดอง" พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 56.3% เชื่อว่าสังคมไทยโดยทั่วไปมี 2 มาตรฐานจริงตามที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ใช้กล่าวอ้างในการชุมนุม ขณะที่ 20.3% เห็นว่าสังคมไทยมีเพียงมาตรฐานเดียว
ดังนั้น การสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทยจึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไข โดยเรื่องที่ควรแก้ไขให้ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 ควรแก้ไขความเป็นธรรมด้านสวัสดิการทางสังคมให้เท่าเทียมกัน อันดับ 2 ควรแก้ไขเรื่องความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ และอันดับ 3 ควรแก้ไขความเป็นธรรมด้านกระบวนการยุติธรรม
ส่วนความเห็นเรื่องการนำรัฐสวัสดิการมาใช้กับสังคมไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมนั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ถึง 60.9% เห็นด้วย เพราะสามารถช่วยลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยได้และช่วยให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงความจำเป็นพื้นฐาน เกิดความเท่าเทียมกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ขณะที่อีก 18.8% ไม่เห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการ เพราะมองว่าต้องใช้งบประมาณสูงเป็นภาระผูกพัน ขณะที่รัฐยังพึ่งพาภาษีทางอ้อมเป็นสัดส่วนสูง ทั้งนี้จะทำให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองลดลง และอาจเป็นเครื่องมือหลักในการหาเสียงของนักการเมือง เสี่ยงต่อการทุจริตคอรัปชั่นได้
สำหรับความเห็นต่อกระบวนการปรองดองของนายกรัฐมนตรีว่าจะสามารถแก้วิกฤติทางการเมืองในปัจจุบันและในอนาคตหลังการเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ถึง 73.4% เชื่อว่ากระบวนการปรองดองดังกล่าว จะสามารถแก้วิกฤติได้เฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น แต่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถแก้วิกฤติอนาคตหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้
พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอ 5 ข้อไปยังรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กระบวนการปรองดองสามารถแก้วิกฤติทางการเมืองได้จริงทั้งในปัจจุบันและในอนาคตหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ คือ 1.เสนอให้ร่างกระบวนการปรองดองทั้ง 5 ข้อที่ครอบคลุมทุกประเด็น ชัดเจน เป็นรูปธรรม มีกำหนดเวลาที่แน่นอน โดยคำนึงถึงความถูกต้องและเหมาะสมกับสังคมไทย
2.ประกาศร่างกระบวนการปรองดองให้สาธารณชนรับทราบ 3. ลงสัตยาบันในร่างกระบวนการปรองดองดังกล่าวต่อสาธารณชน 4.เคารพผลการเลือกตั้ง เคารพคำตัดสินของ กกต. เคารพคำตัดสินของศาล และ 5.จริงใจและเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นและข้อเท็จจริงจากฝ่ายตรงข้ามด้วยใจเป็นธรรม และยึดประโยชน์ของประเทศและส่วนรวมเป็นสำคัญ
ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันชั้นนำระดับประเทศ 23 แห่ง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ดำเนินการสำรวจเก็บข้อมูลในระหว่างวันที่ 7-12 พ.ค.53