นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข แถลงว่า จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 12 มีนาคม 2553 ถึงล่าสุด บาดเจ็บ 1,669 ราย เสียชีวิต 65 ราย ยังอยู่ในไอซียู 21 ราย ค่ารักษาเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะรับผิดชอบด้านค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยผู้บาดเจ็บทุกรายตามสิทธิจนกว่าจะหายเป็นปกติ รวมทั้งดูแลฟื้นฟูด้านจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของสถานพยาบาลนั้น ในพื้นที่กทม.ซึ่งเป็นจุดปะทะหลัก ได้มีการเตรียมพร้อมโรงพยาบาล ทีมแพทย์เฉพาะทาง ระบบการประสานงานโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด เพื่อให้การดูแลผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด ในส่วนของต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ 22 จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ในภาวะฉุกเฉิน ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดเตรียมความพร้อมและเปิดทำการไม่มีวันหยุด เจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
จุดที่น่าห่วงขณะนี้คือ เจ้าหน้าที่หน่วยการแพทย์ฉุกเฉินที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีการปะทะกัน ซึ่งเป็นโซนอันตราย กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงความปลอดภัย หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่กู้ชีพเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ 2 ราย โดยได้ของบกลางจัดซื้อเสื้อเกราะกันกระสุนพร้อมหมวกกันกระสุนจำนวน 200 ชุด ให้เจ้าหน้าที่ใช้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเสื้อเกราะตัวละราคา 40,000 บาท หมวกราคาใบละ 5,000 บาท รวมประมาณ 9 ล้านบาท ได้ประสานกับกระทรวงกลาโหมในเบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะเสนอเข้าครม.ในการประชุมครั้งต่อไป
สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงในเขตที่มีการปะทะกัน ซึ่งเป็นโซนอันตราย ขอให้พกธงขาว ผ้าขาว เสื้อขาว หรือวัสดุที่เป็นสีขาวเท่าที่หาได้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ หากได้รับบาดเจ็บและยังมีสติ ขอให้ตั้งสติ อย่าตกใจ ให้ขอความช่วยเหลือจากคนข้าง ๆ ในระหว่างรอการช่วยเหลือให้ดูแลตนเองเบื้องต้น โดยกดห้ามเลือดในจุดที่มีเลือดออกไว้ก่อน คลายเสื้อผ้าให้หลวม สูดลมหายใจเข้าลึกๆ หากเป็นไปได้ให้งดการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ หากมีกระดูกหักขอให้นอนราบนิ่งๆ สังเกตชีพจรเป็นระยะๆ งดการดื่มน้ำไว้ชั่วคราวเพื่อสะดวกในการช่วยเหลือกรณีต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วน สำหรับการสื่อสาร ขอให้ประชาชนพกนกหวีดเพื่อใช้เป่าส่งเสียงขอความช่วยเหลือ
ส่วนประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ในส่วนของสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่อื่นๆ หากเป็นไปได้ขอให้ใช้วิทยุสื่อสารในการติดต่อประสานงานและจูนคลื่นความถี่ ของศูนย์เอราวัณ 162.825 เมกะเฮิร์ท และศูนย์นเรนทรที่คลื่น 154.925 เมกกะเฮิร์ท เสริมกับระบบโทรศัพท์ที่มีอยู่ สำรองไว้กรณีที่ระบบโทรศัพท์ปกติไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งจะทำให้หน่วยแพทย์รับทราบข้อมูลได้เร็วขึ้น
น.พ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่จะได้รับข่าวสารสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนใช้ความอดทน และประเมินสถานการณ์ เลือกดูข่าวสาร ไม่หมกมุ่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นและสะสม รวมทั้งให้พูดคุยกับคนใกล้ชิดเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันวิธีการปรับตัว และระบายความเครียด โดยกรมสุขภาพจิตได้ให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กทม. เป็นแกนนำในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลสุขภาพจิตประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด