โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) เผยขณะนี้สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ศาลได้อนุมัติออกหมายจับ และควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และตามประมวลกฎหมายอาญาไว้แล้ว 22 ราย จากจำนวนทั้งหมด 75 ราย
"ขณะนี้จับกุมตามหมายจับแล้ว 22 หมาย เหลือต้องดำเนินการจับกุมอีก 52 หมาย ซึ่ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งติดตามจับกุม" พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก บช.น.กล่าว
หมายจับทั้ง 75 หมาย แบ่งเป็น ความผิดเกี่ยวกับการตั้งเวทีปราศรัยปลุกระดมมวลชนบริเวณแยกราชประสงค์ 17 หมาย, ใช้วิทยุชุมชุมปลุกระดมมวลชนให้ก่อความวุ่นวาย และความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 27 หมาย, มีพฤติการณ์ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธสงคราม 8 หมาย, บุกรุกรัฐสภา 7 หมาย, ก่อความวุ่นวายบริเวณสี่แยกคอกวัว 12 หมาย และออกหมายจับเพิ่มเติมในเหตุอื่นๆ อีก 4 หมาย
อนึ่ง พล.ต.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ถูกออกหมายจับในความผิดเกี่ยวกับการตั้งเวทีปราศรัยปลุกระดมมวลชนบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเสียชีวิตแล้ว
โฆษก บช.น.กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศใช้เคอร์ฟิวยังเกิดเหตุคนร้ายยิงปืนเข้าไปที่สาขาธนาคารกรุงเทพ ย่านลาดพร้าว รวมถึงพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัดมีเหตุวางเพลิงเผาโรงเรียน เพื่อความไม่ประมาท บช.น.จึงสั่งการให้มุ่งเน้นดูแลเหตุวางเพลิงเผาทรัพย์ ก่อความวุ่นวายการใช้อาวุธปืน และระเบิดทำลาย โดยเฉพาะที่สถานศึกษา ธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
นอกจากนี้ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.ได้สั่งการให้ตำรวจปราบปรามจราจลปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้ ซึ่งคดีเหตุการวางเพลิงเผาทรัพย์บางส่วนยังอยู่ระหว่างการจับกุม และหลายกรณี พนักงานสอบสวนได้นำคลิปวีดีโอและภาพถ่ายมาประกอบเพื่ออนุมัติหมายจับต่อศาลดำเนินการภายใน 1-2 วัน และประชาชนพบเหตุต่างๆ สามารถโทรแจ้งที่ 191 หรือศูนย์ปฏิบัติการ บช.น.ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-280-1396
โฆษก บช.น.ยังกล่าวถึงผลการจับกุมผู้ฝ่าฝืนประกาศเคอร์ฟิวจนถึงวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 511 ราย ซึ่งศาลได้พิจารณาสั่งลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท ซึ่งโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดดำเนินคดีกับผู้ที่จงใจฝ่าฝืน เช่น รถรับจ้างสาธารณะวิ่งตระเวนโดยไม่มีผู้โดยสาร สถานบริการ สถานบันเทิง และร้านเกม ยกเว้นผู้ประกอบการที่มีความจำเป็น เช่น รถบรรทุกน้ำมัน รถขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค ของสดต่างๆ ที่ต้องนำสินค้าไปส่งที่ตลาด
และส่วนที่อนุโลมให้คือเจ้าหน้าที่แพทย์ที่ต้องเข้าเวรเป็นผลัด รวมทั้งผู้ป่วย หรือผู้จะที่เดินทางไปต่างประเทศ ถ้ามีหลักฐานยืนยันก็จะผ่อนผัน โดยจะบันทึกข้อมูลเอาไว้