นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งของปี 2553 ตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม 2553 เป็นต้นมา จำนวน 5 ศูนย์ ประจำทั้ง 5 ภาคของประเทศ และทยอยส่งเครื่องบินไปตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค ตามความเหมาะสมของสภาพความชื่นสัมพันธ์ในอากาศและสถานการณ์ภัยแล้งของพื้นที่
ขณะนี้ ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 10 หน่วย และได้จัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวงจังหวัดตาก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมพื้นที่ช่วยเหลือมากขึ้น ดังนี้
1. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ จังหวัดพิษณุโลก และฐานเติมสารฝนหลวงจังหวัดตาก 2. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคกลางที่ จ.นครสวรรค์ 3. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ขอนแก่น อุบลราชธานี และ นครราชสีมา 4. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคตะวันออกที่ จ.ระยอ งและ จันทบุรี 5. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคใต้ ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ สุราษฎร์ธานี โดยเครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงรวมทั้งหมด จำนวน 25 ลำ
นายธีระ กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งและมีหนังสือขอรับบริการฝนหลวงช่วยเหลือ รวมทั้งหมดตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 จำนวน 44 จังหวัด โดยในการปฏิบัติการฝนหลวง ได้วางแผนช่วยเหลือทุกพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งตามสภาพที่เป็นจริงจากการประสานงานในพื้นที่
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยงานปฏิบัติการฝนหลวงแต่ละหน่วย ในปี 2553 ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงวันแรกของแต่ละหน่วย ทั้ง 11 หน่วย จนถึงปัจจุบันมีการขึ้นบินปฏิบัติการรวม 76 วัน มีรายงานฝนตกในการปฏิบัติการ รวม 65 วัน จำนวน 528 สถานี วัดปริมาณน้ำฝนรายวันสูงสุดได้ 136.0 มิลลิเมตร จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 63 จังหวัด จากจำนวนจังหวัดที่อยู่ในเป้าหมายทั้งหมด 70 จังหวัด