นายนิพนธ์ ดิลกคุณานันท์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงแนวทางการผลักดันมันสำปะหลังเป็นสินค้านำร่องในการจัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการอย่างครบวงจร
ในประเด็นของการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง พบว่า ผู้ประกอบการและเกษตรกรได้มีการใช้เชื้อราบิวเวอเรียในการกำจัดเพลี้ยแป้ง และใช้สารเคมีเพื่อแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูก เพื่อควบคุมการระบาดซึ่งได้ผลดี แต่ควรเข้มงวดในการย้ายท่อนพันธุ์เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดข้ามเขต ซึ่งหลังจากมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล ทำให้เกษตรกรให้ความสนใจกับการซื้อขายแบบมีข้อสัญญาผูกพัน (Contract farming) ลดลง สำหรับจังหวัดนครราชสีมามีผู้ประกอบการมากรายทำให้เกิดการแข่งขันในการซื้อ หากไม่มีความซื่อสัตย์เกษตรกร ก็สามารถเลือกขายให้รายอื่นๆ ได้
ดังนั้น การแข่งขันในตลาดจะสร้างความเป็นธรรมได้ในระดับหนึ่ง ภาครัฐจึงควรจะเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นมากกว่า เนื่องจากราคามันสำปะหลังประเทศไทยไม่สามารถกำหนดเองได้ ขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศ แต่สิ่งที่จะควบคุมได้ก็คือไม่ทำให้ต้นทุนสูงเกินไป โดยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการดำเนินการในรูปแบบคลัสเตอร์มันสำปะหลังในจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการในรูปแบบคลัสเตอร์ แต่มีการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการ และของเกษตรกร โดยยังขาดหน่วยงานที่จะเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงให้เป็นคลัสเตอร์ ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมา จะร่วมหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางให้จังหวัดเป็นเจ้าภาพบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงานต่อไป