นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพฝนในช่วงที่ผ่านมาพบว่าฝนที่ตกลงมาในระยะนี้เกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
อีกทั้ง กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์ว่าลักษณะดังกล่าว จะทำให้มีฝนตกในระยะ 2 — 3 วันนี้เท่านั้น หลังจากนั้นฝนจะตกลดลง และจะเข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วงในระยะต่อไป
ดังนั้น กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและประเมินสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาวะอากาศมีการเปลี่ยนแปลงทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือนมิถุนายนก็อาจจะเลื่อนการทำนาปีให้เร็วขึ้นจากที่ประกาศไว้
ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรฯ ขอให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการชลประทานทุกที่ที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ในภาคเหนือตอนล่างและในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ดังกล่าว เลื่อนการทำนาปีจากปกติเดือนพฤษภาคมออกไปจนกว่าจะเริ่มมีฝนตกชุกและมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2553 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรที่จะปลูกข้าวในฤดูฝนปี 2553
เนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เหลืออยู่น้อยมาก โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลมีอยู่ประมาณ 33 % ของความจุอ่างฯ หรือ 4,421 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ประมาณ 36% ของความจุอ่างฯ หรือคิดเป็น 3,456 ล้านลูกบากศ์เมตร จึงพบว่ายังมีปริมาณน้ำที่ยังสามารถระบายออกไปใช้งานได้เพียง 1,308 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งปริมาณน้ำที่เหลือดังกล่าวไม่สามารถส่งไปสนับสนุนการทำนาปีตอนต้นฤดูฝนในเขตโครงการชลประทานทุกที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ในภาคเหนือตอนล่างและในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมนี้ได้
พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานในระดับพื้นที่เข้าไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ได้รับทราบ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันผลผลิตของเกษตรกรที่อาจจะเสียหายจากปัญหาการขาดแคลนน้ำได้
"กระทรวงเกษตรฯมีความเป็นห่วงเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอการเพาะปลูกข้าวออกไป จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ ลงพื้นที่เพื่อสอบถามปัญหาของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อที่จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือในระหว่างรอการเพาะปลูกชั่วคราว รวมทั้งจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยอาจจะจัดให้หน่วยงานที่มีการจัดจ้างงานในพื้นที่ดังกล่าว โดยเปิดโอกาสให้ได้มีการจ้างงานเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกร"นายธีระ กล่าว