ก.เกษตรฯ มองสถานการณ์ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้นหลังเดือน พ.ค.

ข่าวทั่วไป Wednesday May 26, 2010 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธี ระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ( สศก.) ยังได้ประเมินสถานการณ์ราคาข้าวในประเทศอาจจะสูงขึ้นหลังจากเดือนพ.ค.นี้ เนื่องจากได้คาดการณ์ภาวการณ์ผลิตข้าวนาปรังปี 2553 ในพื้นที่รับผิดชอบ 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี และสระบุรี ที่ผลผลิตจะลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.98 เหลือประมาณ 3.144 ล้านตัน ซึ่งปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยก็จะส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น

"ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่น่ากังวลและอาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าว คือ ในอนาคตอันใกล้นี้ถ้าเวียดนามยังเผชิญปัญหาดุลการค้า และปัญหาเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มว่าเวียดนามอาจจะปรับลดค่าเงินด่องลงอีก ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมรับมือเนื่องจากจะทำให้ราคาข้าวเวียดนามถูกกว่าไทย นอกจากนี้ ประเทศผู้นำเข้าข้าวบางประเทศมีความต้องการการบริโภคข้าวลดลง โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่คาดว่าอาจจะต้องนำเข้าข้าวในปี 2553 หันไปใช้ข้าวสาลีเพื่อบริโภคทดแทนข้าว ทำให้อินเดียยังไม่ต้องนำเข้าข้าวในปี 2553 ส่วนตลาดแอฟริกาก็หันไปบริโภคข้าวโพด ทำให้ความต้องการข้าวลดลงบางส่วน" นายธีระ กล่าว

รมว.เกษตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวราคาตกต่ำในขณะนี้ ภาครัฐได้จัดทำมาตรการโครงการประกันรายได้ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในเบื้องต้น

พร้อมกันนี้รัฐบาลได้เตรียมเปิดตลาดสินค้าส่งออกข้าวใหม่ๆเพิ่ม โดยเฉพาะในประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศไซบีเรีย ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มประเทศส่งออกที่น่าสนใจเพราะมีกำลังซื้ออีกปริมาณมาก อีกทั้งรัฐบาลจะเร่งระบายข้าวในสต็อกแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งจะทำให้กลไกด้านราคากลับสู่ภาวะปกติส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น พร้อมทั้งเตรียมการวางแผนเพื่อกำหนดปริมาณการผลิตข้าวที่เหมาะสมในแต่ละปี ซึ่งการกำหนดปริมาณการผลิตเกี่ยวโยงไปถึงปริมาณพื้นที่ที่จะปลูกข้าว เพื่อให้เกษตรกรลดการพึ่งพิงการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว โดยการหารายได้ทางอื่นๆเพื่อชดเชยกับการจำกัดหรือควบคุมพื้นที่ปลูกข้าว ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงของการค้าเสรีในอนาคต

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม 2553 พบว่า สินค้าที่คงมีราคาสูงขึ้นได้แก่ ข้าวนาปรัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มังคุด ลองกอง ลิ้นจี่ และไก่เนื้อ โดยมีเพียงมันสำปะหลัง และไข่ไก่ ที่ราคาทรงตัว ขณะที่สินค้าที่ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนได้แก่ ทุเรียน เงาะโรงเรียน และสุกร สำหรับ ทุเรียน และเงาะโรงเรียน โดยสาเหตุที่ราคาลดลงเนื่องจากยังคงมีผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างมากตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นของยางพารา ปาล์มน้ำมัน ปศุสัตว์และ ผลไม้ ที่จะออกสู่ตลาดมาก

อย่างไรก็ตาม ยังถือได้ว่าสถานการณ์ราคาในภาพรวมยังคงสอดคล้องกับราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาในเดือนเมษายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ก็พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นร้อยละ 20.14 โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ