ก.เกษตรฯเร่งสร้างความเท่าเทียมด้านการเกษตร รับลูกโรดแมพแผนปรองดอง

ข่าวทั่วไป Wednesday May 26, 2010 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมด้านการเกษตรตามแผนปรองดองแห่งชาติ ว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายแผนการสร้างความปรองดองแห่งชาติ 5 ข้อ เพื่อลดช่องว่างและความขัดแย้งของคนในสังคมนั้น ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ การพัฒนาและเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกร สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม

กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดกรอบแนวทางดำเนินงานดังกล่าวโดยการเน้นที่เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประกอบด้วย 2 แนวทาง

แนวทางแรก คือ การพัฒนาและเพิ่มโอกาสให้กับตัวเกษตรกร ได้แก่ การให้สวัสดิการแก่เกษตรกร เพื่อเป็นหลักประกันสังคม ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติกองทุนสวัสดิการชาวนา เพื่อเป็นหลักประกันแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและชาวนา เพื่อจะได้จัดให้มีสวัสดิการแก่ชาวนาซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มใหญ่ที่มีความสำคัญจะได้มีสวัสดิการ มีบำนาญเลี้ยงชีพยามชรา ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิตเรียบร้อยแล้ว และจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังให้เกษตรกรได้มีโอกาสมีที่ดินทำกิน ได้แก่ การออก พ.ร.บ. คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อสามารถบังคับใช้ที่ดินที่มีอยู่ สามารถจำกัดเขตที่ดินเพื่อการเกษตร ไม่ให้นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เป็นการเพิ่มโอกาสแก่เกษตรกรในการที่จะมีที่ดินทำกิน การใช้ประโยชน์ทรัพยากรในเขตปฏิรูปที่ดิน

ซึ่งในปี 2553 กระทรวงเกษตรฯ มีแผนงานจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร โดยจะมีการสำรวจความต้องการใช้ที่ดินของเกษตรกรทั่วประเทศและนำเสนอรัฐบาลเพื่อจัดสรรที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินแก่เกษตรกร ซึ่งในอนาคตกระทรวงเกษตรฯ ยังมีแผนสนับสนุนให้สหกรณ์ที่เข้มแข็งจัดซื้อที่ดินเป็นของสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกเกษตรกรเป็นผู้เข้ามาดำเนินการเกษตร โดยภาครัฐสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ และโครงสร้างพื้นฐานภาคการเกษตร และการคุ้มครองและประกันความเสี่ยงด้านรายได้และราคาผลผลิต เช่น ความเสี่ยงต่อความเสียหายจากภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ ความเสี่ยงด้านราคาปัจจัยการผลิต และความเสี่ยงด้านราคาผลผลิตตกต่ำ และการตลาด ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้ในระยะยาว โดยการชดเชยรายได้สำหรับพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง และในอนาคตจะมีการขยายและเพิ่มโครงการให้ครอบคลุมสินค้าเกษตรชนิดอื่น

และที่สำคัญ คือ การเร่งรัดโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการบูรณาการของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งจะกจะต้องมีการผลักดันให้สามารถนำเข้าสู่ระบบประกันภัยอย่างสมบูรณ์

สำหรับแนวทางที่ 2 คือ การพัฒนากลุ่มองค์กรเกษตรกร ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกร ได้แก่การจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อคุ้มครองและรักษาประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งผลักดันการจัดตั้งสภาเกษตรกรให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด การพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ในการประกอบธุรกิจการเกษตร การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน การจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร

และอีกหนึ่งแนวทางที่กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร โดยการผลักดันมาตรการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรให้สำเร็จ เพื่อขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรในตลาดโลก และรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกร นายธีระ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เร่งศึกษาข้อมูลของเกษตรกรทุกกลุ่ม รวมทั้งปัญหาต่างๆของเกษตรกรทุกฝ่าย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจะได้นำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาของเกษตรกรทุกๆด้านอย่างยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ