สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เผยเด็กและเยาวชนไทยมีแนวโน้มเผชิญปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงขึ้นจากปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งในสังคม และสภาพความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพบุคลากรของประเทศในอนาคต
"ปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีแนวโน้มภาวะสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพคน" นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) กล่าวถึงภาวะสังคมไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 53(ม.ค.-มี.ค.)
เนื่องจากคนไทยยังขาดทักษะที่จะจัดการกับความเครียดและภาวะวิกฤตในชีวิต ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังการเกิดปัญหาสุขภาพจิตขั้นรุนแรงจากความขัดแย้งในสังคม และผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาซึ่งอาจทำให้มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น, ความขัดแย้งในสังคมที่ยังดำเนินต่อไปสร้างความเครียดและบั่นทอนสุขภาพจิต, การรับรู้ข่าวสารจำนวนมากที่ขาดการกลั่นกรอง รวมทั้งการรับข้อมูลข่าวสารอย่างท่วมท้นจากสื่อสังคม และเครือข่ายสังคมต่างๆ สร้างความเครียดในสังคมมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังขาดภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม และสังคมผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งและเกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้น
นางสุวรรณี กล่าวว่า ด้านสุขภาพคนไทยยังมีความเสี่ยงจากโรคภัยต่างๆ เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง การระบาดของอหิวาตกโรคตลอดทุก 3 ปี ขณะที่พฤติกรรมการสูบบุหรี่มีพิษภัยแฝงจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ขณะที่คดีอาญาโดยรวมลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้นช่วยให้คดียาเสพติดและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลง รวมทั้งมีผลจากการใช้มาตรการเชิงรุก
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มระยะยาวยังต้องระมัดระวังปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ขณะที่แรงกดดันภายในครอบครัวและแรงกดดันภายนอก ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของวัยรุ่น
"การแชทผ่านไฮไฟว์ เฟสบุค ทวิตเตอร์ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเด็กถูกล่อลวงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-15 ปี" นางสุวรรณี กล่าว
นอกจากนี้ ปัญหาภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง และปัญหาไฟไหม้ป่าในฤดูแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล้กที่มีค่าเฉลี่ยเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นจนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ
สำหรับแนวทางและมาตรการการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณลักษณะพึงประสงค์ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันครอบคลุมด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การคุ้มครองทางสังคม เช่น การดูแลด้านโภชนาการและสุขภาพเด็ก การคุ้มครองเด็กและเยาวชน การพัฒนาด้านคุณภาพและการเข้าถึงบริการการศึกษาของเด็กและเยาวชน การเรียนฟรี 15 ปี และ การสนับสนุนด้านเงินทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนและสถาบันเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน เช่น สถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ กองทุนสื่อสร้างสรรค์ และสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนภายใต้ สสส. มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังด้านวัฒนธรรม ด้านสังคม ด้านเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดปัญหาของเด็กมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกิจกรรม/พื้นที่ดี ทดแทนพื้นที่เสีย ที่จูงใจและเปิดโอกาสให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดพฤติกรรมในเชิงบวก