รัฐบาลสหรัฐเริ่มสอบสวนทางอาญา-แพ่งกรณีแท่นขุดเจาะน้ำมันบีพีระเบิดจนเกิดน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในอ่าวเม็กซิโก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 2, 2010 09:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอริค โฮลเดอร์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ กล่าวว่า ทางการสหรัฐได้เริ่มดำเนินการสอบสวนทั้งในทางแพ่งและอาญาต่อกรณีน้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่ในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นผลมาจากการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทบีพี

"เราจะตรวจสอบการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด หากเราพบหลักฐานว่ามีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย เราก็จะดำเนินคดีขั้นสูงสุด" นายโฮลเดอร์กล่าวกับสื่อของสหรัฐที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา

นายโฮลเดอร์ได้เดินทางไปยังอ่าวเม็กซิโกเมื่อวานนี้ เพื่อสำรวจการรั่วไหลของน้ำมันซึ่งเกิดจากแท่นขุดเจาะ Deepwater Horizon ของบีพีที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งรัฐหลุยเซียนา ระเบิดเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ นายโฮลเดอร์จะเข้าพบกับพนักงานอัยการและอัยการประจำรัฐหลุยเซียนา อลาบามา และมิสซิสซิปปี ซึ่งรัฐเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโก

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วุฒิสมาชิกหลายคนของสหรัฐได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังนายโฮลเดอร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับความไม่สัตย์ซื่อและไม่โปร่งใสของเอกสารที่บริษัทบีพีได้ยื่นต่อรัฐบาล ซึ่งเอกสารดังกล่าวอธิบายถึงแผนการสำรวจแท่นขุดเจาะในเบื้องต้น พร้อมกับเรียกร้องนายโฮลเดอร์ให้ยื่นมือเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ทั้งในทางแพ่งและอาญา

รายงานระบุว่า แท่นขุดเจาะ Deepwater Horizon ของบีพีที่เกิดระเบิดเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น ทำให้เกิดรูรั่วปล่อยน้ำมันไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโกหลายล้านแกลลอน ปนเปื้อนตามแนวชายฝั่งทะเลความยาวอย่างน้อย 113 กิโลเมตร ซึ่งบีพีได้พยายามหยุดการรั่วไหลของน้ำมันด้วยการอัดโคลนหนักลงไปในบ่อน้ำมันเพื่อป้องกันการรั่วไหล ซึ่งวิธีการดังกล่าวเรียกว่า “top kill" แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บีพีออกแถลงการณ์ยอมรับว่าความพยายามดังกล่าว ประสบความล้มเหลว

นายดั๊ก ซัทเทิลส์ ผู้บริหารของบีพี กล่าวว่า การพยายามอัดโคลนลงไปในบ่อ 3 ครั้ง รวมถึงการพยายามใช้วัสดุแข็งอุดรอยรั่ว 16 ครั้ง ก็ไม่สามารถหยุดการรั่วไหลของน้ำมันได้ ทำให้บีพีตัดสินใจส่งหุ่นยนต์ใต้น้ำลงไปซ่อมแซมท่อน้ำมันที่รั่วไหลเมื่อวานนี้ รวมถึงการตัดท่อส่วนที่ได้รับความเสียหายและต่อท่ออีกอันเข้ากับรอยรั่วเพื่อให้น้ำมันลอยขึ้นไปเหนือผิวน้ำและให้เรือทำการดักจับน้ำมันต่อไป ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้รับอนุญาตจากนายสตีเวน ชู รัฐมนตรีพลังงาน และ นายเคน ซาลาซาร์ รัฐมนตรีมหาดไทยของสหรัฐแล้ว

ทั้งนี้ ข่าวรัฐบาลสหรัฐเตรียมดำเนินการทั้งในทางแพ่งและอาญาต่อกรณีน้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่ในอ่าวเม็กซิโก ส่งผลให้นักลงทุนเข้ามากระหน่ำขายหุ้นกลุ่มพลังงานในตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) ซึ่งฉุดดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 112.61 จุด หรือ 1.11% ปิดที่ 10,024.02 จุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ