ครม.ประเมินผลหลังเลิกเคอร์ฟิว-เดินหน้าอัดฉีดมาตรการเยียวยาจากเหตุชุมนุม

ข่าวทั่วไป Wednesday June 2, 2010 11:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) บ่ายวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เลื่อนประชุมมาเป็นวันพุธจากปกติที่ต้องมีขึ้นทุกวันอังคาร เนื่องจากสัปดาห์นี้ ครม.ติดภารกิจในการประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าจะมีการสรุปสถานการณ์ในช่วงหลังจากยกเลิกเคอร์ฟิว รวมทั้งประเมินช่วงเวลาที่เหมาะสมในการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สำหรับวาระการประชุมครม.ที่น่าสนใจ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SMEs Bank) เพื่อขอให้ขยายวงเงินการปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความวุ่นวายทางการเมืองเพิ่มอีก 5 พันล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการลงทะเบียนขอรับสินเชื่อแล้วกว่า 5,700 ราย คิดเป็นวงเงินถึง 4 พันล้านบาทแล้ว และผ่านการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 2,640 ราย วงเงิน 1,700 ล้านบาท

การให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยให้ธนาคารพาณิชย์, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs Bank), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM Bank), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กู้ยืม

อีกทั้งธนาคารออมสินคิดอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี และสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยจากผู้ประกอบการตามจำนวนเงินในตั๋วสัญญาใช้เงินในอัตรา 1.5% ต่อปี โดยมีระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการแต่ละรายถึงสิ้นปี 56 โดยยื่นขอได้จนกว่าวงเงินที่กำหนดไว้จะถูกจัดสรรหมดตั้งแต่เดือน ม.ค.54 เป็นต้นไป

ด้านกระทรวงศึกษาธิการเสนอรายงานผลการพิจารณาทบทวนคุณสมบัติโรงเรียนขนาดเล็ก (นร.ไม่เกิน 300 คน) ที่สมควรจะได้รับสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนรายหัวเพิ่มเติมเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นหัวละ 1,000 บาท/คน/ปี เพื่อให้ได้รับตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 53 เป็นต้นไป

นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ดำเนินการทบทวนอนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม(Top - up) โดยให้ สพฐ.ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 53 จากโครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี งบประมาณ 4.06 หมื่นล้านบาท

ด้านกระทรวงวัฒนธรรมเสนอขอความเห็นชอบให้เป็นวาระแห่งชาติ ในการสนับสนุนการส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริตของคนไทย พร้อมเสนอแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชาวเลใน 5 จังหวัดฝั่งทะเลและเกาะต่างๆ ในภาคใต้ เช่น ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และสตูล เช่น 1.ปัญหาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย 2.ปัญหาด้านการทำมาหากิน 3.การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ 4.ปัญหาการไร้รัฐ 5.ปัญหาคุณภาพชีวิตของชาวมอแกนกว่า 700 คน 6.ปัญหาด้านทัศนคติและความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ