บริษัทบีพี เผชิญแรงกดดันอย่างหนัก หลังคราบน้ำมันรั่วไหลขยายวงกว้างสู่แนวชายหาดชื่อดังของรัฐฟลอริดา ขณะที่การแก้ปัญหาอุดน้ำมันรั่วยังคงเผชิญกับอุปสรรคนานับประการ
โดยบีพีดำเนินการควบคุมการรั่วไหลของน้ำมันด้วยการตัดท่อน้ำมันที่มีปัญหาใต้ทะเลออก แต่จากปัญหาฟันเลื่อยที่ปลายที่หุ้มด้วยเพชรติดในท่อน้ำมันขณะที่ดำเนินการตัดท่อมาถึงครึ่งทาง ทำให้บีพีต้องเผชิญอุปสรรคในการควบคุมมิให้คราบน้ำมันพัดเข้าสู่ชายหาดชื่อดังในเขตฟลอริดา แพนแฮนเดิล
อย่างไรก็ตาม บีพีเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่อาจต้องใช้เวลา 12 ชั่วโมงจึงจะงัดเลื่อยออกมาจากท่อน้ำมันดังกล่าวได้ และขณะนี้บริษัทได้เตรียมความพร้อมเพื่อเริ่มดำเนินการตัดท่อไว้แล้ว ซึ่งภายใต้แผนการสกัดกั้นการรั่วไหลของคราบน้ำมันจากแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ระเบิดใต้อ่าวเม็กซิโก บีพีต้องทำการตัดท่อที่รั่วออกก่อนแล้วจึงดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป
ด้านเจ้าหน้าที่ดูแลชายฝั่งกล่าวว่า เราสามารถตัดท่อน้ำมันได้ใหม่ ซึ่งจากนี้ไปก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถทำได้ดีแค่ไหน และจะทำอย่างไรให้การแก้ปัญหาดังกล่าวดำเนินไปได้อย่างราบรื่นมากที่สุด
ทั้งนี้ จากเหตุคราบน้ำมันที่รั่วไหลภายในรัศมี 7 ไมล์โดยรอบหาด Pensacola ทำให้เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินรีบรุดไปที่เกิดเหตุเพื่อต่อปลายท่อของปั้นจั่นที่มีความยาวหลายไมล์ซึ่งออกแบบขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นคราบน้ำมัน แต่จากพายุในอ่าวเม็กซิโกเป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดว่า คราบน้ำมันอาจลอยเข้าสู่ชายฝั่งภายในวันศุกร์นี้ ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการทำความสะอาดคราบน้ำมันตามชายฝั่ง อ่าว และหาดทรายขาวหลายแห่งซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันของบีพีระเบิดเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมาจนส่งผลให้เกิดน้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐได้ทำให้มีคนงานเสียชีวิต 11 ราย ขณะที่คราบน้ำมันสร้างความสกปรกให้กับพื้นที่ชายหาดของรัฐหลุยเซียนา 125 ไมล์ และได้มีการกำจัดคราบน้ำมันในรัฐแอละแบมาและมิสซิสซิป ซึ่งรัฐบาลสหรัฐคาดการณ์ว่าในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมามีน้ำมันที่รั่วไหลจากแท่นขุดเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 21 ล้านแกลลอน เป็น 45 ล้านแกลลอน
ทั้งนี้ ชายหาดของรัฐฟลอริด้ามีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของสหรัฐ ซึ่งในปี 2551 มีนักท่องเที่ยว 60% มักเดินทางมาพักผ่อนที่เมืองชายหาดดังกล่าว ซึ่งข่าวคราบน้ำมันรั่วไหลสู่ชายฝั่งดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว