ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้ลงโทษนายวีรพล ดวงสูงเนิน อดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ด้วยการปลดออกจากราชการ กรณีทุจริตโครงการประมูลเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ส่วนควบในปีงบประมาณ 2542 ของกรมประชาสัมพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายกรัฐมนตรีที่สั่งลงโทษดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว
"คำอุทธรณ์ของนายวีรพลจึงฟังไม่ขึ้น ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายืน" คำพิพากษา ระบุ
ทั้งนี้ นายวีรพลได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ตนเองมาฟ้องคดี เพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคำสั่งลงโทษต่างๆ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้มีศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติ ป.ป.ช.ที่วินิจฉัยว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง รวมทั้งขอให้สั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเพิกถอนคำสั่งลงโทษทั้งปวง รวมถึงคำสั่งที่ 200/2546 ลงวันที่ 10 ก.ย.46 ที่ปลดตนเองออกจากราชการ และให้สั่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีรับตนเองกลับเข้ารับราชการ
หลังพิจารณาพยานหลักฐานแล้วศาลเห็นว่า การดำเนินการนายวีรพลจากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาพิจารณาเบื้องต้น และมีมติให้ยกเลิกการประกวดราคาเพื่อให้มีการประกวดราคาใหม่ นายวีรพลได้เรียกคณะกรรมการฯ มาประชุมที่ห้องทำงาน และขอให้ทบทวนข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการประกวดราคา เพื่อให้มีทางเลือกที่จะเสนออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เช่น อาจเสนอให้เป็นไปตามเดิม คือ เห็นควรให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่ไม่คัดค้าน มีเพียง น.ส.กนกพร ณ พิกุล ไม่เห็นด้วย และบอกจะไม่ลงนาม
จากนั้นนายวีรพลได้ให้เจ้าหน้าที่แก้ไขข้อความจากเดิมที่จะเสนอให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ยกเลิกการประกวดราคาเป็นขออนุมัติให้เช่าคอมพิวเตอร์ แล้วนำเอกสารหน้าที่มีลายมือชื่อกรรมการทั้ง 5 คนมาประกอบ ก่อนเสนออธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ลงนาม ซึ่งการแก้ไขข้อความในบันทึกโดยไม่ได้ให้กรรมการตรวจสอบใหม่จึงไม่ถูกต้อง ประกอบกับปรากฏชัดแจ้งว่า น.ส.กนกพร ไม่เห็นด้วย แต่นายวีรพลยังนำชื่อของบุคคลดังกล่าวไปประกอบในบันทึก
ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของนายวีรพลจึงมีลักษณะไม่โปร่งใส ส่อไปในทางทุจริต แสดงให้เห็นว่าจงใจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนทางราชการ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ลงโทษไล่นายวีรพลออกจากราชการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายวีรพลเห็นควรให้ลดโทษจากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ คำวินิจฉัยของนายกรัฐมนตรีก็ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน