ก.เกษตรฯ คาดฝนหลังเอลนิโญ่ผ่านไปก.ค.นี้ยังน้อย ห่วงกระทบเพาะปลูกนาปรัง

ข่าวทั่วไป Monday June 7, 2010 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์ภัยแล้งวานนี้ โดย พล.ต.สนั่น เปิดเผยว่า จากการรับฟังการรายงานและประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในเขื่อนในปัจจุบันพบว่ายังน่าเป็นห่วง

ดังนั้น นอกจากที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศเลื่อนการทำนาปีไปในช่วงกลางเดือนกรกฏคมเพื่อป้องกันผลกระทบผลผลิตข้าวของเกษตรกรแล้ว ก็ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน ติตตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และรายงานสถานการณ์ปริมาณฝนประจำวัน ปริมาณน้ำในเขื่อนและน้ำไหลลงเขื่อน รวมทั้งสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ ให้รับทราบ เพื่อรายงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วนต่อไป

ด้านนายธีระ กล่าวว่า ในเบื้องต้นแม้ว่าจากการคาดการณ์ของกรมชลประทานจะพบว่าปริมาณน้ำฝนในฤดูฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่กำลังจะหมดไปจากประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฏาคมนี้ และส่งผลทำให้มีปริมาณฝนมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม แต่จากการประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์จะยังไม่เต็มความจุอ่างฯ เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้น้ำในปริมาณมากเกินเกณฑ์จึงไม่เหลือปริมาณน้ำสำรอง

คาดว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ของทั้งสองอ่างใหญ่รวมกันประมาณ 6,000—7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกนาปรังปีถัดไปในเขตลุ่มเจ้าพระยาได้เพียงประมาณ 3.2 ล้านไร่ ซึ่งภาครัฐก็จะต้องเข้มงวดในเรื่องการจัดสรรน้ำเพื่อภาคการเกษตรมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบของน้ำต้นทุนอย่างที่ผ่านมา

สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะในส่วนที่สามารถขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำเหนือเขื่อนในเขื่อนที่คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลหลงอ่างไม่เป็นไปตามเกณฑ์นั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรทำการย้ายฐานปฏิบัติการเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เช่น การย้ายฐานฝนหลวงจาก จ.สุราษฏร์ธานีไปประจำอยู่ที่ จ.แพร่ เพื่อเติมน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และย้ายฐานปฏิบัติการฝนหลวง จ.จันทบุรี ไปอยู่ที่ จ.ตาก เพื่อเติมน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ก็ได้มอบหมายให้กรมชลประทานติดตามและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา หรือองค์กรต่างประเทศทางด้านการวิเคราะห์สภาพอากาศถึงสภาวะอากาศที่จะเกิดขึ้นที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว รวมถึงเฝ้าระวังสภาวะอากาศในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำท่วมในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมที่มักจะมีพายุพัดผ่านเข้าสู่ประเทศไทย ด้าน

ขณะที่ นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงที่คาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการทำแก้มลิงทั่วประเทศตามแผนทั้งสิ้น 190 แห่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำได้ประมาณ 115 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีถึง 141 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลำน้ำสาธารณะอยู่แล้วเพียงแต่เข้าไปดำเนินการขุดลอกเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม

รวมถึงการเร่งรัดดำเนินการในส่วนโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วเช่น เขื่อนห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป .


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ