รมว.สาธารณสุข(สธ.) เผยผลสำรวจอารมณ์ทางการเมืองของประชาชนทั่วประเทศหลังเกิดเหตุรุนแรงทางการเมืองเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง มีแนวโน้มรู้สึกโกรธ เกลียด โมโห และสับสนเพิ่มขึ้นสูงมาก ส่วนพื้นที่เป้าหมายในกรุงเทพฯ พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีจำนวนมากถึง 52.38% เสี่ยงเป็นโรคเครียดและซึมเศร้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ผลสำรวจโดยเปรียบเทียบระหว่างวันที่ 28 เม.ย.53 ซึ่งอยู่ในช่วงการชุมนุมกับวันที่ 1 มิ.ย.53 ซึ่งการชุมนุมยุติลงแล้ว พบว่า ประชาชนมีความรู้สึกเบื่อหน่ายลดลงจาก 56.9% เหลือ 49.48% และมีความรู้สึกสลดใจและเศร้าลดลงจาก 47.4% เหลือ 41.94% แต่กลับมีความรู้สึกโกรธ เกลียด และโมโห เพิ่มจาก 26.7% เป็น 41.94% และรู้สึกสับสน เพิ่มจาก 20.1% เป็น 34.32%
"ในทางจิตวิทยาอธิบายว่าเป็นความรู้สึกโทษคนอื่น ทั้งจากฝ่ายที่กระทำ และถูกกระทำ คือความโกรธของผู้ที่ไปเผา และผู้ที่ถูกเผา ซึ่งหากไม่ได้รับการเยียวยาอาจทำให้มีพฤติกรรมทำตามอารมณ์โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล" นายจุรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่สุ่มเสี่ยงต่อโรคเครียดและซึมเศร้า โดยในกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต 33.33% กลุ่มผู้บาดเจ็บ 11.22% กลุ่มผู้ชุมนุม 16.75% และสูงที่สุดคือกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งมี 52.38% เนื่องจากยังไม่มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีเท่าผู้ใหญ่