ปภ.เตือนคนไทยเตรียมรับมือวิกฤติน้ำ คาดฝนทิ้งช่วงทำแล้งรุนแรงยาวนาน

ข่าวทั่วไป Monday June 7, 2010 18:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วง 5 เดือนแรกของปี พบว่า ทุกพื้นที่ของประเทศมีฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนหลักสำคัญของประเทศค่อนข้างน้อย ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปล่อยน้ำสนับสนุนการทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก

และแม้ว่าในขณะนี้จะเข้าสู่ช่วงต้นฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ฝนจะตกในบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนทำให้ยังไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อน รวมทั้งจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยายังระบุอีกว่า อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงกลางเดือนมิ.ย.-ก.ค.53 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตรที่รุนแรงมากขึ้นได้

เพื่อเป็นการเตรียมการรับมือภาวะวิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนให้ประชาชนให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด มีคุณค่า และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ปล่อยน้ำไหลทิ้ง ปิดก๊อกน้ำให้สนิท รวมถึงหมั่นตรวจสอบรอยรั่วซึมของก๊อกน้ำ หากมีน้ำรั่วไหลให้จัดการเปลี่ยนก๊อกน้ำใหม่ทันที ตลอดจนตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้สามารถใช้การได้ดี เพื่อจะได้กักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงที่ขาดแคลนน้ำ

ส่วนเกษตรกร ให้ติดตามสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ และสภาวะอากาศ รวมถึงปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด จะได้วางแผนการเพาะปลูกได้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศ โดยเลือกเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับกรอบเวลาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด

พร้อมทั้งเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในภาวะวิกฤติ หากอาศัยในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ หรือนอกเขตชลประทาน ให้เลือกเพาะปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปี งดเว้นการทำนาในพื้นที่นอกเขตที่จังหวัดกำหนดจะช่วยป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้ชะลอและปรับเลื่อนระยะเวลาในการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อน โดยให้วางแผนเพาะปลูกพืชหรือทำนาในช่วงที่ฝนกระจายตัว หรือประมาณเดือนสิงหาคม

ส่วนเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถปลูกข้าวนาปีได้ตามปกติ เนื่องจากในระยะนี้ฝนตกกระจายตัวดีในภาคดังกล่าว

พร้อมกันนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด ด้วยการปฏิบัติให้เป็นนิสัยและความเคยชินในชีวิตประจำวัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ