สธ.ตั้งทีมรับมือโรคไข้เลือดออกระบาด หลัง 5 เดือนแรกผู้ป่วยสูงขึ้น 60%

ข่าวทั่วไป Tuesday June 8, 2010 13:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สั่งตั้งทีมรับมือฤดูกาลระบาดหนักของโรคไข้เลือดออกในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.53 เนืองจากปีนี้มีแนวโน้มระบาดหนักหลังพบจำนวนผู้ป่วยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 60% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และเสียชีวิตแล้วถึง 20 ราย

คณะกรรมการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกชุดใหญ่ 1 ชุด จำนวน 23 คน ประกอบด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร โดยมีนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

"เพื่อวางนโยบายการป้องกันและแก้ไขโรคไข้เลือดออกในระดับชาติ โดยให้หน่วยงานต่างๆ มีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เนื่องจากจากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคพบว่า ปีนี้มีแนวโน้มโรคจะระบาดหนักกว่าปีที่ผ่านมา" นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.53 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 17,587 ราย ส่วนใหญ่พบในเด็กโตและวัยรุ่น อายุระหว่าง 10-24 ปี ภาคกลางมีผู้ป่วยสูงสุดจำนวน 7,945 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 4,264 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,753 ราย และภาคเหนือ 1,625 ราย เสียชีวิตรวม 20 ราย

"เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 จำนวนผู้ป่วยปีนี้มากกว่าถึง 58% ชี้ให้เห็นว่าไข้เลือดออกในปีนี้จะระบาดหนัก โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดสูงสุดคือ เดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งมีฝนตกชุกขึ้น หากไม่มีการควบคุมป้องกันอย่างจริงจังของทุกหน่วยงาน" นพ.ไพจิตร์ กล่าว

ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจะมีมาตรการเข้มในเรื่องการรายงานโรค โดยให้ทุกพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรีบรายงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภายใน 24 ชั่วโมง และส่งทีมควบคุมโรคลงพื้นที่ทันทีเพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจาย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลางปีเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน 5 ปีที่ผ่านมา จะต้องรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายถี่ขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ส่วนการรักษาพยาบาลได้กำชับให้แพทย์ดูแลผู้ป่วยที่อายุเกิน 14 ปีที่มีไข้ ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกด้วย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของโรคพบในเด็กโตและวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้พบในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ และให้สถานพยาบาลทุกระดับดูแลสถานที่ไม่ให้เป็นแหล่งแพร่โรค โดยต้องไม่มีลูกน้ำยุงลายในและรอบๆสถานพยาบาล

ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อเด็งกี่ซึ่งเป็นสาเหตุโรคไข้เลือดออกอาศัยอยู่ในยุงลายที่พบในบ้านเรือนและในสวน มี 4 สายพันธุ์ ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เด็งกี่ 1 มาก ในปีนี้ยังคงพบสายพันธุ์เด็งกี่นี้มากเช่นเดิม แต่สายพันธุ์เด็งกี่ 2 และ 3 มีสัดส่วนสูงขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์เด็งกี่ 2 และ 3 จึงมีโอกาสที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสูงมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ