ศาลสั่งจำคุก"เกริกเกียรติ"คดีปล่อยกู้"ซีลาร์" 150 ปี ปรับ 360 ลบ.

ข่าวทั่วไป Tuesday June 8, 2010 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาให้จำคุกอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพณิชยการ(บีบีซี) กับพวก พร้อมทั้งปรับเงิน ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์บีบีซีจำนวน 902 ล้านบาท และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี เป็นจำเลยที่ 1, นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซีเป็นจำเลยที่ 2, นายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินและวาณิชธนกิจบีบีซีเป็นจำเลยที่ 3, บริษัท ซีลาร์อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส จำกัด เป็นจำเลยที่ 4, นายเกษมสันต์ ศรีทองแท้ จำเลยที่ 5 และนายธนากร ปิติสเถียร ซึ่งผู้ถือหุ้นบริษัท ซีลาร์ฯ เป็นจำเลยที่ 6

"ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง มีหน้าที่ตรวจสอบหลักทรัพย์ตามวิชาชีพที่ได้รับความไว้วางใจกลับใช้โอกาสในหน้าที่แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อนุมัติเงินกู้ไปโดยหลักทรัพย์ไม่มีอยู่จริง ที่มีอยู่ก็เป็นการประเมินผิดราคาให้สูงผิดปกติ จึงเป็นการกระทำผิดตามฟ้อง" คำพิพากษา ระบุ

ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายเกริกเกียรติเป็นเวลา 150 ปี ปรับ 359,446,559 บาท ส่วนนายเกษมสันต์และนายธนากรถูกจำคุกคนละ 95 ปี ปรับคนละ 19 ล้านบาท ขณะที่พิพากษายกหฟ้องนายเอกชัยและนายวันชัย

ทั้งนี้ อัยการฟ้องและนำสืบว่า ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.37 ถึงวันที่ 5 ก.ย.37 จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี ซึ่งมีนายราเกซ สักเสนา จำเลยในอีกคดีหนึ่งเป็นที่ปรึกษา ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 อนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทซีลาร์ฯ ที่มีจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ทำทีมาขอสินเชื่อโดยเปิดบัญชีกระแสรายวันแล้วขอกู้เงิน 30 ครั้ง เป็นเงินรวม 322 ล้านบาท โดยนำโฉนดที่ดิน อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย และที่ดินอื่นๆ รวม 2,500 ไร่ ราคา 600 ล้านบาท และหุ้นบริษัทอื่นอีก 2 บริษัท ที่มีการเปลี่ยนแปลงสลับไปมามูลค่า 100 ล้านบาท รวม 700 ล้านบาท มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ โดยจำเลยไม่มีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ

ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระบีบีซีไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวไม่มีมูลค่าอยู่จริง อีกทั้งหุ้นบริษัทที่นำมาค้ำประกันก็ไม่มีมูลค่าจริง ทำให้ธนาคารเสียหายเป็นเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยรวม 902 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ได้เพียง 20 ปี และจำคุกจำเลยที่ 5 กับจำเลย 6 คนละ 10 ปี ศาลจึงออกหมายขังตามลำดับ และให้จำเลยนำหลักทรัพย์มาวางเป็นหลักประกันต่อศาลโดยเร็ว

นอกจากนี้ ทนายความของนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวมูลค่า 10 ล้านบาท โดยอ้างเหตุว่าป่วยเป็นมะเร็งปอด ลิ้นหัวใจรั่ว แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งประกัน ซึ่งศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีพฤติการณ์ร้ายแรง ขณะที่ค่าปรับจำนวนมาก ประกอบกับจำเลยถูกพิพากษาจำคุกคดีอื่นๆ อีกหลายสำนวน ดังนั้นเกรงว่าจำเลยจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ จึงยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ด้านนายผดุงพันธ์ จันทะโร ทนายความของนายเกริกเกียรติ กล่าวว่า เตรียมยื่นอุทธรณ์สู้คดี ขณะเดียวกันจะใช้สิทธิ์ยื่นฎีกา เพื่อขอให้พิจารณาการให้ประกันตัวต่อไปด้วย โดยขณะนี้นายเกริกเกียรติถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ