นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ได้ประสานให้ 17 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมการป้องกันอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าช่วงวันที่ 9-10 มิ.ย.53 บริเวณภาคใต้ตอนบนมีฝนตกหนาแน่น และฝนตกหนักในบางแห่งซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย
รวมทั้งสั่งการให้มิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย แจ้งเตือนประชาชน และรายงานสถานการณ์ภัยแก่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
พร้อมกำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด จัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที และหากเกิดสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนป้องกันภัยของจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดที่ประสบภัยจัดกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักรเข้าสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที
นายอนุชา กล่าวว่า หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่และสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสีขุ่นข้นเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา มีเสียงดังมาจากป่าต้นน้ำ เป็นต้น ให้รีบอพยพและขนย้ายสิ่งของไปยังที่ปลอดภัย เพราะอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้