ก.เกษตรฯฟื้นฟูการพัฒนาระบบชลประทานยั่งยืน-ปรับระบบการปลูกข้าวในฤดูแล้ง

ข่าวทั่วไป Thursday June 17, 2010 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย หรือ THAICID (Thai National Committee on Irrigation and Drainage) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวิชาการ การวิจัยด้านการชลประทาน และการระบายน้ำระดับนานาชาติ มีจุดยืนในการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำควบคู่ไปกับ การบริหารสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินโครงการชลประทานของประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่ามีความต้องการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน แต่ก็ยังคงคำนึงถึงการรักษาวิถีชีวิตของคนในพื้นที่และระบบนิเวศน์ด้วย

โดยปัจจุบันได้มีการกำหนดกรอบการพัฒนาชลประทานในภาพรวมทั้งสิ้น 8 ด้าน ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบส่งน้ำ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก โครงการพัฒนาแก้มลิง โครงการพัฒนาในระดับไร่นา โครงการเหลียวหลัง โครงการพัฒนาโครงข่ายน้ำ โครงการชลประทานขนาดกลาง และโครงการชลประทานขนาดใหญ่ โดยในกรอบการพัฒนาพื้นที่ศักยภาพเป็นพื้นที่ชลประทานนี้ ประกอบด้วยแผน 3 ระยะคือ

แผนปัจจุบัน แผนระยะกลาง ตั้งแต่ปี 2555-2559 และแผนระยะยาว ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ซึ่งมีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการรวมทั้งสิ้น ประมาณ 2 ล้านล้านบาท

สำหรับหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจ และควรนำมาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพคือ “โครงการเหลียวหลัง" โครงการชลประทานที่มีการก่อสร้างและใช้งานมาแล้วเป็นเวลานานหรือเกินกว่า 20 ปี จึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพให้เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม เพื่อการใช้งานต่อไป ซึ่งโครงการเหลียวหลังดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุม THAICID NATIONAL SYMPOSIUM ครั้งที่ 5 ที่เน้นถึงการปรับปรุงงานด้านการชลประทานและการระบายน้ำอย่างยั่งยืนด้วย

ส่วนการประชุม THAILAND INWEPF SYMPOSIUM ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด ‘Multiple Roles of Paddy Fields related to Integrated Resources Management’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้าว นับเป็นการประชุมที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งมีการทำนาข้าวเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงข้าวยังเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวต้องอาศัยสิ่งสำคัญคือน้ำ ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงหรือถึงขั้นวิกฤต อ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำน้อยลงกว่าทุกปี

ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการนำข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักวิชาการชั้นนำไปใช้พัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่ชลประทานเป็นอันดับ 8 ของโลก และยังเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังเหลือพื้นที่จะต้องพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานอีกกว่า 30 ล้านไร่ ให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาระบบการเพาะปลูก ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นอย่างยั่งยืนอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ