นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์น้ำในเขื่อนภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ว่า ปัจจุบันภาคเหนือมีปริมาณน้ำเหลือเพียงร้อยละ 32 ของปริมาณกักเก็บ ภาคกลางมีปริมาณน้ำเหลือร้อยละ 62 ของปริมาณกักเก็บ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำเหลือร้อยละ 34 ของปริมาณกักเก็บ และภาคใต้มีปริมาณน้ำเหลือร้อยละ 62.29 ของปริมาณกักเก็บ เห็นได้ว่าแต่ละภาคของประเทศมีปริมาณน้ำน้อยมากโดยเฉพาะเขื่อนใหญ่ ๆ เช่น เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งหากฝนไม่ตกอีกจะมีน้ำใช้งานได้เพียง 45 วัน
สำหรับเขื่อนในภาคอีสาน สถานการณ์น้ำมีความน่าเป็นห่วงมาก โดยเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำใช้ได้ไม่เกิน 30 วัน อย่างไรก็ดีทางภาครัฐร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ กฟผ. มีมาตรการช่วยภัยแล้ง โดยการปล่อยน้ำเพื่อการทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง เท่านั้น และแต่งตั้งคณะทำงานรับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์น้ำโดยตรง
นอกจากนี้ การช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กฟผ. ได้ให้ความช่วยเหลือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคทุกพื้นที่เฉลี่ยเดือนละ 3.5 ล้านลิตร และจัดโครงการคืนชีวิตสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โครงการแปรรูปปลา เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของราษฎรอีกด้วย
นายทรงยศ เจิดนภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กฟผ. กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีปริมาณน้ำสำหรับใช้งานเพียง 24 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของปริมาณกักเก็บ ณ วันที่ 23 มิ.ย.53 แต่มีความจำเป็นต้องระบายน้ำถึงวันละ 300,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาสภาพลำน้ำ
ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำ กฟผ. ได้ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สำหรับเขื่อนสิรินธรมีน้ำใช้งานได้เพียงร้อยละ 2.68 ซึ่งหากฝนไม่ตกลงมาในช่วงนี้ ราษฎรจะได้รับความเดือดร้อนเรื่องการอุปโภคบริโภค