นางสาวสุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำรายงานการศึกษาและแผนงานรองรับการจัดตั้งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานที่รับผิดชอบและมีบทบาท ได้แก่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร มีบทบาทในการค้นคว้าวิจัย พัฒนาด้านการผลิต การแปรรูปและการตลาด สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) มีบทบาทในด้านการส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยียางพารา และองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) มีบทบาทในด้านการทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูปและจำหน่ายยางพารา ทั้งนี้ภาครัฐมีนโยบายที่จะรวมหน่วยงานที่เกี่ยวกับยางพาราเป็นการยางแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีเอกภาพในการพัฒนายางพาราทั้งระบบ
สำหรับรายงานการศึกษาดังกล่าวเป็นผลจากการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ระหว่างสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ได้ร่วมกันจัดทำรายงานการศึกษาและแผนงานรองรับของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย 4 แผนงาน ดังนี้
แผนบริการจัดการทรัพย์สิน มีแนวทางการดำเนินการ โดยการสำรวจทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน คัดแยกทรัพย์สินตามสภาพ และจัดทำแผนการบริการจัดการทรัพย์สิน
แผนการจัดอัตรากำลัง มีแนวทางการดำเนิน โดยสำรวจโครงสร้างองค์กรอัตรากำลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปรับปรุงโครงสร้างขององค์กร อัตรากำลังให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดทำโครงการรองรับพนักงานที่ไม่ประสงค์จะปฎิบัติงานต่อไป
แผนการเตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบ ข้อปฎิบัติ มีแนวทางการดำเนินการ โดยรวบรวมกฎระเบียบ ข้อปฎิบัติต่างๆที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อปฎิบัติให้มีความเหมาะสม ทันสมัย
และแผนการประชาสัมพันธ์ มีแนวทางการดำเนิน โดยพิจารณาเลือกสื่อ ช่องทางการประชาสัมพันธ์ รวมถึงพิจารณาเนื้อหาและแผนการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้เพื่อมิให้การปฎิบัติซ้ำซ้อนกันและสนับสนุนส่งเสริมการทำงานในการพัฒนาเกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกร เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน
"ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับชาวสวนยางและผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ รายได้จากผลผลิตยางทั้งหมดเป็นรายได้โดยตรงถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางแลผู้ประกอบการชาวไทย อีกทั้งก่อให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ"นางสาวสุพัตรา กล่าว