กษ.เผยสถานการณ์ภัยแล้วสร้างความเสียหายเกือบ 1.4 หมื่นลบ.ใน 44 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Wednesday June 30, 2010 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคการเกษตรว่า มีพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายประมาณ 44 จังหวัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรและผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายอย่าง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 13,986 ล้านบาท

โดยสินค้าเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ข้าวนาปรัง สัปปะรด ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ส่วนพืชเกษตรที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้ผลกระทบไม่มากนัก ได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปศุสัตว์และประมง

ทั้งนี้ ข้าวนาปรังได้รับผลกระทบโดยมีผลผลิตรวมลดลงจาก 650 กก./ไร่ ลดลง เหลือ 592 กก./ไร่ ผลผลิตรวมลดลงจาก 10.52 ล้านตันเหลือ 9.58 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 7,330 ล้านบาท

สัปปะรดโรงงาน ผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 3,500 กก. เหลือ 3,436 กก. พื้นที่ปลูกไม่เปลี่ยนแปลงมีประมาณ 0.57 ล้านไร่ ผลผลิตรวมลดลงจาก 2 ล้านตันเหลือ 1.96 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 148 ล้านบาท

ส่วนปาล์มน้ำมัน ผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 2,700 กก.เหลือ 2,537 กก. ผลผลิตรวมลดลงจาก 9.82 ล้านตันเหลือ 9.23 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2,074 ล้านบาท

ส่วนไม้ผลมีผลผลิตโดยรวมลดลง โดยเฉพาะลำไย ผลผลิตต่อไร่ลดลงจากไร่ละ 750 กก.เหลือ 595 กก.คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย2,010 ล้านบาท ส่วนทุเรียนผลผลิตต่อไร่ก็ลดลงจาก 1,100 กก.เหลือ 986 กก.คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,035 ล้านบาท และอื่นๆมีมูลค่าความเสียหาย 1,388 ล้านบาท

ส่วนข้าวนาปีแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่เกษตรกรได้เลื่อนระยะเวลาการปลูก โดยพื้นที่ปลูก 57.216 ล้านไร่ ผลผลิตต่อไร่ 403 กก.ผลผลิตรวม 23.043 ล้านตัน

มันสำปะหลังพื้นที่ปลูกไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เนื่องจากต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตแล้ว ประกอบเป็นพืชทนแล้งแต่ผลผลิตที่ได้รับความเสียหายเกิดจากการระบาดของเพลี้ยแป้งระบาดมากขึ้น โดยมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 7.003 ล้านไร่ผลผลิตต่อไร่ 2,854 กก.ผลผลิตรวม 19.988 ล้านตัน

อ้อยโรงงาน บางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบภาวะภัยแล้งในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกทำให้พื้นที่ลดลงแต่เกษตรกรทำการปลูกทดแทนเมื่อมีฝน ทำให้พื้นที่ปลูกไม่เปลี่ยน โดยมีพื้นที่ปลูก 6.834 ล้านไร่ ผลผลิต ต่อไร่ 10.78 ล้านตัน ผลผลิตรวม 73.66 ล้านตัน

นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับสินค้าปศุสัตว์ในภาพรวมพบว่า ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์ไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ใช้ในระบบการเลี้ยงในโรงเรือนแบบปิดและมีระบบการบริหารจัดการที่เป็นระบบสามารถบริหารหรือควบคุมปริมาณการผลิตได้แต่ภาคปศุสัตว์อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากปัญหาภัยแล้งที่อาจทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนราคาอาหารสัตว์ จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อต้นทุนการผลิตปศุสัตว์

ส่วนสินค้าประมง พบว่าจากสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติทำให้กุ้งเพาะเลี้ยงโตช้า ส่งผลให้กระทบต่อพื้นที่เพาะเลี้ยงในภาคตะวันออกแต่ในภาพรวมไม่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก

ทั้งนี้ ผลกระทบในภาคการเกษตรจากภัยแล้งทำให้คาดว่าการขยายตัวของภาคเกษตรชะลอตัวเป็นร้อยละ 2.7 จากสถานการณ์ปกติที่คาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 3.1 และมีผลให้รายได้ต่อครัวเรือนประชาการเกษตรลดลง 2,450 บาทต่อครัวเรือนต่อปี จากในภาวะปกติที่ประมาณ 130,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มผู้ปลูกนาปรังและไม้ยืนต้น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ