ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยประชาชนยังมีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ยังต่ำอยู่และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะด้านการเมืองมีความเชื่อมั่นน้อยที่สุด ส่วนความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต 6 เดือนข้างหน้ายังคงเหมือนเดิม โดยมีอุปสรรคสำคัญคือความแตกแยกในสังคม
"เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน(มิ.ย.52) ที่มีคะแนนความเชื่อมั่นเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.05 คะแนน พบว่าคะแนนความเชื่อมั่นลดลง 0.48 คะแนน หรือลดลงร้อยละ 13.4" ผศ.สุนิสา ประวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุในเอกสารเผยแพร่
ผลสำรวจครั้งนี้พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในด้านต่างๆ เฉลี่ยรวม 3.57 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยมีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพด้านเศรษฐกิจมากที่สุด 3.92 คะแนน รองลงมาคือด้านสังคม 3.58 คะแนน ขณะที่ด้านการเมืองประชาชนมีความเชื่อมั่นน้อยที่สุด 3.20 คะแนน
เมื่อพิจารณาคะแนนความเชื่อมั่นในแต่ละตัวชี้วัดพบว่า ความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมีคะแนนต่ำที่สุด คือ 2.17 คะแนน ถัดขึ้นมาคือความเชื่อมั่นต่อการปฏิรูปการเมืองและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ได้ 3.16 คะแนนเท่ากัน
ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้าพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นว่า ศักยภาพของประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจะยังคงเหมือนเดิม
สิ่งที่ประชาชนมองว่าเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญที่สุดในการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ การที่คนไทยขาดความรักความสามัคคี/ขัดแย้งกัน/ขาดน้ำใจต่อกัน ร้อยละ 45.5 รองลงมาคือ การทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 14.1 และการมีนักการเมืองที่ไม่มีคุณภาพ/ไม่มีจริยธรรม/ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ร้อยละ 9.9
สำหรับสิ่งที่ประชาชนตั้งใจจะทำเพื่อมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพของประเทศไทย อันดับแรกคือ ตั้งใจจะทำหน้าที่ของพลเมืองให้ดีที่สุด ร้อยละ 34.6 รองลงมาคือ จะรักบ้านเมืองไม่ทำลายบ้านเมือง ไม่ก่อความวุ่นวายหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ร้อยละ 14.8 และตั้งใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสรรค์สร้างให้คนไทยรักกัน รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ร้อยละ 11.3
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความเห็นเรื่อง "ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อศักยภาพประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,483 คน ระหว่างวันที่ 25-27 มิ.ย.ที่ผ่านมา