นายประสาร มฤคพิทักษ์ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่า การพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission) เพื่อประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการเกิดขึ้นของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 4 ชาติ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม กว่า 100 คน และผู้แทนจากจีนเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยได้หารือใน 4 ทางเลือก คือ ยุติการสร้างเขื่อนทั้งหมด 12 แห่ง ชะลอการสร้างเขื่อนออกไป เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างรอบด้าน เลือกสรรบางโครงการเพื่อทำโครงการนำร่อง และเดินหน้าสร้างเขื่อน 12 แห่งต่อไป
อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนไทยได้เสนอว่าควรยุติการสร้างเขื่อนทั้ง 12 แห่ง เพราะในระยะยาวการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมีผลกระทบมหาศาล แม้จะตอบสนองด้านพลังงาน แต่ในปัจจุบันมีพลังงานทางเลือกมากมาย ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นของผู้แทนเวียดนาม โดยประเทศปลายน้ำโขงที่จะรับเคราะห์ทางนิเวศน์หนักที่สุด ขณะที่ผู้แทนลาวเลือกให้ทำโครงการนำร่อง ส่วนกัมพูชาขอศึกษารายละเอียดก่อน
นายประสาร กล่าวว่า ประเทศลาวมุ่งมั่นที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย เพื่อผลิตไฟขายให้ต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย แต่อีกด้านหนึ่ง ทั้งลาวและกัมพูชาต้องพึ่งพิงการลงทุนจากจีนมูลค่ามหาศาล รวมทั้งการลงทุนของจีนสร้างเขื่อนในลาว 3 แห่ง ในกัมพูชา 1 แห่งด้วย
"เห็นว่า แม่น้ำโขงมีระบบนิเวศน์ที่จัดการตนเองได้อยู่แล้ว คนไม่ควรไม่ยุ่ง ที่ผ่านมาเขื่อนจีน 4 แห่งในลุ่มน้ำโขงตอนบนทำความพินาศให้กับแม่น้ำโขงแห่งนี้มากพอแล้ว จีนยังจะสร้างเขื่อนเพิ่มอีก 4 แห่ง บวก 12 เขื่อนในตอนล่าง ยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์มากขึ้น"นายประสาร กล่าว