ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ(กรุงเทพโพลล์) เผยดัชนีความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในเดือน ก.ค.53 อยู่ในระดับปานกลางที่ 5.94 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยมีระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 0.52 คะแนนจากการสำรวจเมื่อ 3 เดือนก่อน(เม.ย.53) และความเสี่ยงด้านการเมืองยังคงมีคะแนนสูงสุดที่ระดับ 7.59 ขณะที่ความเสี่ยงด้านการสูญเสียวัฒนธรรมประเพณีและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมีคะแนนเพิ่มขึ้นสูงสุด
"เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา(3 เดือนที่แล้ว) พบว่าความเสี่ยงของคนกรุงเทพฯ มีคะแนนเพิ่มขึ้น 0.52 คะแนน และเมื่อพิจารณาในรายตัวชี้วัดทั้ง 10 ตัว พบว่า ความเสี่ยงด้านการสูญเสียวัฒนธรรมประเพณีและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีคะแนนความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสูงที่สุด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 1,146 คน ระหว่างวันที่ 3-4 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยคนกรุงเทพฯ เห็นว่าตนเองมีความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตในระดับปานกลาง(เฉลี่ยรวม 5.94 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) โดยความเสี่ยงด้านการเมืองมีคะแนนสูงที่สุดคือ 7.59 คะแนน รองลงมาคือความเสี่ยงด้านสุขภาพร่างกาย 6.61 คะแนน และความเสี่ยงด้านค่าครองชีพและหนี้สิน 6.41 คะแนน
สำหรับสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วนเพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต อันดับแรก ร้อยละ 22.3 ต้องการให้เร่งสร้างความปรองดองและความสามัคคีในชาติโดยให้ทุกฝ่ายหยุดใช้สื่อในการสร้างความแตกแยก รองลงมาร้อยละ 20.3 ต้องการให้แก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาค่าครองชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชน และร้อยละ 17.2 ต้องการให้แก้ปัญหารถติด ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้สะดวก ปลอดภัย และทันสมัย
ส่วนความเห็นต่อการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพฯ นั้น ร้อยละ 62.5 เห็นว่าควรยกเลิก ขณะที่ร้อยละ 37.5 เห็นว่าไม่ควรยกเลิก