นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมเฉลิมพระเกียรติเพื่อรับรองสถานะทางทะเบียนแก่คนไทยผู้ยากไร้ 984 รายว่า คณะกรรมการอำนวยการโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ร่วมกับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ฯลฯ และองค์กรเอกชนภาคีเครือข่าย คือ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้คนไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนซึ่งไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อย ให้สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สารพันธุกรรมหรือการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อประโยชน์ในการขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร ภายใต้คุณสมบัติตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องบัญญัติ และช่วยให้คนไทยเหล่านั้นสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐา นต่างๆ ตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต่อไป
สำหรับกระบวนการดำเนินการนั้น จะตรวจให้กับบุคคลที่ผ่านการคัดกรอง ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการอำนวยการฯ กำหนด และผ่านการสำรวจข้อมูลประชาชน โดยสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 984 ราย จากนั้นจึงมีการประสานงานกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยตรวจ เพื่อดำเนินการจัดเก็บสารพันธุกรรมแก่ประชาชน แล้วนำมาตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์นั้น จะส่งมอบให้กับสำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนสถานที่ที่ใช้ในการดำเนินการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) คือ ที่ทำการปกครองในพื้นที่ สถานที่ที่หน่วยตรวจที่เข้าร่วมโครงการกำหนด และสถานที่อื่นๆที่คณะกรรมการอำนวยการฯ ประกาศกำหนด
ในส่วนค่าใช้จ่ายของโครงการฯ นั้น ทางคณะกรรมการอำนวยการฯ จะขอรับบริจาค จากผู้มีจิตศรัทธา โดยสามารถโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เปิดบัญชีไว้ หรือบริจาคด้วยตนเองได้ที่บริเวณห้องโถง ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา ๒ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ทำการปกครองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่จังหวัดกำหนด
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ นอกจากเป็นการช่วยเหลือคนไทยที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้มีหลักฐานประกอบการดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร และมีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ยังช่วยให้ภาครัฐสามารถนำมาเป็นข้อมูลเพื่อการดำเนินการพัฒนาปรับปรุงฐานข้อมูลในทะเบียนราษฎร ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น และเพื่อช่วยเหลือให้กระบวนการบริหารจัดการด้านสวัสดิการของภาครัฐได้เพียงพอกับความต้องการและถูกต้องตามความเป็นจริง
ทั้งนี้ คณะอำนวยการโครงการฯได้นำบุคคลที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการตรวจพิสูจน์ฯ โดยเป็นชาวเขาเผ่าต่างๆจากจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่จำนวนหนึ่งมาร่วมการแถลงข่างด้วย โดยมีแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยทีมแพทย์จากสถาบันต่างๆ ได้มาสาธิตการตรวจดีเอ็นเอโดยใช้เนื้อเยื่อข้างกระพุ้งแก้มให้กับนายนิคม ไวยรัชพานิช นอกจากนี้ยังได้ตรวจดีเอ็นเอโดยการเจาะเลือดให้กับผู้เข้ารวมโครงการดังกล่าวโดยเป็นแม่ลูกจากกรุงเทพฯ โดย นายอดิศักดิ์ เลิศชุ่ม อายุ 45 ปี แต่ยังไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งตรวจพิสูจน์กับนางมาลี เลาะและ อายุ 77 ปี มารดาซึ่งมีสัญชาติไทย โดยลูกที่เหลืออีก 7 คนมีสัญชาติไทยหมด ซึ่งปัจจุบันนายอดิศักดิ์ พิการขาขาดข้างหนึ่ง กล่าวว่า ตนเฝ้ารอมานาน และอยากได้รับสิทธิ์ตามสถานะคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งการดำเนินชีวิตประจำวันถือว่ามีปัญหามาก โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปรับการตรวจรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐก็ไม่ได้รับสิทธิ์ตามพื้นฐานของคนไทยทั่วไป
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวว่า ขณะนี้มีบุคคลที่มีสายเลือดความเป็นคนไทย จำนวนนับหมื่นนับแสน ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยหรือเอกสารรับรองความเป็นไทย ทำให้บุคคลเหล่านั้นต้องกลายเป็นผู้ไม่มีสถานะและไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป และแนวทางที่จะช่วยเหลือกลุ่มบุคคลดังกล่าวคือ “การตรวจดีเอ็นเอ (DNA) หรือสารพันธุกรรม" สามารถใช้ยืนยันตัวบุคคลหรือความสัมพันธ์ทางสายโลหิตได้อย่างแม่นยำและมีความน่าเชื่อถือสูง ดังนั้นจึงได้ริเริ่มโครงการนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานดังกล่าว
"ในบรรยากาศที่ประเทศชาติของเรากำลังต้องการซึ่งความปรองดองและความสมานฉันท์ของคนในชาติ โครงการฯ นี้จึงถือเป็นหนึ่งในกลไกการเสริมสร้างความรัก ความศรัทธา และความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย นอกจากนี้ โครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ยังนับเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติของวุฒิสภา ที่ได้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคล ที่พระองค์ทรงเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค.2554 นี้ด้วย" นายนิคม กล่าว